ในการนี้ นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ "กรณีศึกษาการพลิกโฉมธุรกิจสู่องค์กร Net-Zero Carbon Emissions" โดยกล่าวว่า เครือซีพีโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือฯ ได้ประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนสู่ปี 2030 รวม 15 เป้าหมาย โดยมีเป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ลดปริมาณขยะอาหารเป็นศูนย์ โดยที่ผ่านมาเครือซีพีและกลุ่มธุรกิจในเครือฯได้มีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายด้าน ด้วยการมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) จากการปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดรวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งสำคัญคือจะต้องได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในการร่วมกันดำเนินการให้ถึงเป้าหมาย
นายสมเจตนากล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เครือซีพีได้จัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ หรือ Charoen Pokphand Group's Climate-Related Risk Management Report โดยอ้างอิงจากTask Force on Climate-Related Financial Disclosure: TCFD เพื่อวิเคราะห์การบริหารความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานทั้งในส่วนของระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว เพื่อแสดงความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสีย นอกจากนี้เครือฯ ยังได้ร่วมขึ้นเวทีระดับโลกในการประกาศเจตนารมณ์ Race to Zero ผ่านโครงการ Business Ambition for 1.5 ?C และแสดงความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ตลอดห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2050
"เครือซีพีได้มีการวางปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือ Key Success Factors ในการพลิกโฉมนำองค์กรสู่ Net Zero ดังนี้ 1. ผู้นำมีส่วนสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายที่ชัดเจนในการสะท้อนความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.ต้องมีการประเมินวัดผล ติดตามการดำเนินงาน และต้องเปิดเผยผลการประเมินทุกปี 3. อาศัยกลไกตลาด มีการวิเคราะห์ต้นทุนและเทคโนโลยีที่เหมาะสม 4.เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกกลุ่มธุรกิจต้องปรับตัวและนำมาพัฒนาองค์กรร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง และ 5. ต้องสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการนำสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้" นายสมเจตนากล่าว
ทั้งนี้งานสัมมนาวิชาการออนไลน์ Carbon Credit: โอกาสทางธุรกิจในยุคเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ องค์กรชั้นนำภาครัฐ เอกชน และองค์การมหาชนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของคาร์บอนเครดิต ตลอดจนกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย พร้อมทั้งการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านภาษี รวมถึงกลไกของภาครัฐในการช่วยธุรกิจลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการรวมถึงสร้างสมดุลระหว่างผลตอบแทนทางธุรกิจกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย
ที่มา: ซีพี