ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทยเป็น 'BBB+' และ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

พฤหัส ๐๒ ธันวาคม ๒๐๒๑ ๑๐:๐๐
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็น 'BBB+' จาก 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) เป็น 'AAA(tha)' จาก 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ดังนั้น อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิจะถูกปรับเพิ่มขึ้น 1 อันดับเช่นกัน

โดยการจัดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการพิจารณาของฟิทช์ว่าบทบาทในเชิงนโยบายของ KTB มีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมจากการที่ KTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB)

พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ 'bbb+'
รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ต่อความสามารถและโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ KTB ในกรณีที่มีความจำเป็น ทั้งนี้ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยที่ BBB+/F1 แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น สะท้อนถึงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่มีปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล และมุมมองของฟิทช์ในการสนับสนุนจากรัฐบาลในระยะสั้นนั้นมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การจัดอันดับเครดิตระยะสั้นในอันดับสูงสุดของตารางการพิจารณาอันดับเครดิตระยะสั้นของฟิทช์ที่ 'F1'

ทั้งนี้การพิจารณาอันดับเครดิตภายในประเทศยังพิจารณาเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของสถาบันการเงินไทยรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว เป็น 'AAA(tha)' สอดคล้องกับการจัดอันดับเครดิตของธนาคารอื่นในประเทศไทยของฟิทช์ ซึ่งมีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ 'BBB+'

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KTB สะท้อนถึงภาระผูกพันที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร และได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศ

อันดับเครดิตการสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตการสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ของ KTB สะท้อนว่า ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษกับ KTB ในกรณีที่จำเป็น ฟิทช์มองว่า KTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดของเงินฝากที่ 16% และถูกกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในหกธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB)

นอกเหนือจากความสำคัญในเชิงระบบของ KTB ฟิทช์เชื่อว่า KTB ยังเป็นธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์กับรัฐบาล ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์รายเดียวที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ โดยถือผ่านหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 55% และฟิทช์มองว่าการถือหุ้นเป็นในลักษณะเชิงกลยุทธ์และระยะยาว

KTB มีบทบาทอย่างมากและมีหน้าที่โดยตรงในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์เอกชนอื่น KTB มีบทบาทสำคัญในการช่วยภาครัฐกระจายเงินช่วยเหลือตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการช่วยเหลือต่างๆ ผ่านทางแอพพลิเคชั่นและสาขาของธนาคาร อัตราการเติบโตของสินเชื่อของ KTB อยู่ที่ 12% ในปี 2563 และ 10% ในเดือนกันยายน ปี 2564 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญที่ 6% และ 4% ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อของภาครัฐเพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด ฟิทช์คาดว่าการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันกับรัฐบาล สะท้อนถึงบทบาทสำคัญของ KTB ในระบบเศรษฐกิจการเงิน

นอกจากนี้ อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ยังพิจารณาถึงความสามารถในการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาล ซึ่งพิจารณาจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศ ฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลไทยยังคงมีความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับระดับอันดับเครดิตปัจจุบัน และยังมีฐานะทางการคลังในระดับที่เพียงพอในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารไทยในกรณีที่จำเป็น แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะปรับเพิ่มขึ้น การที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เช่น การให้ความช่วยเหลือผ่านทางมาตราการต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังสะท้อนถึงโอกาสที่รัฐบาลจะให้ความสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นอยู่ในระดับที่สูง

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อยู่ที่ 'bbb-' ซึ่งสะท้อนสถานะทางการเงิน (standalone profile ) ที่พิจารณาถึงสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ท้าทายของประเทศไทย ซึ่งได้รับคะแนนประเมินที่ 'bbb' โดยคะแนนสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารอยู่ในกลุ่ม 'bb' ตามเกณฑ์ของฟิทช์ แต่ฟิทช์ได้ปรับคะแนนเพิ่มโดยใช้อันดับเครดิตของประเทศไทย

ฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลจะสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดเงินและสภาพเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารมีความสามารถในดำเนินงานที่มีกำไรและยั่งยืน ฟิทช์คาดว่าสภาพเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4.8% ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนผลประกอบการของธนาคารได้

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB ยังสะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทย พร้อมกับมีสถานะการเงินในระดับปานกลาง โครงสร้างธุรกิจของ KTB ที่ 'bbb' สะท้อนถึงขนาดธุรกิจของธนาคารและการมีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของ KTB ในลักษณะของการเป็นธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร (universal banking) แต่ก็รวมไปถึงแรงกดดันในการแข่งขันจากหลากหลายกลุ่มลูกค้าด้วยเช่นเดียวกัน โครงสร้างธุรกิจของ KTB ยังได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่ยาวนานและใกล้ชิดกับหน่วยงานรัฐ และในฐานะที่เป็นธนาคารหลักในการบริหารเงินสดให้กับภาครัฐ ซึ่งช่วยรักษาเสถียรภาพในด้านการดำเนินงานของธนาคาร

โครงสร้างความเสี่ยงของ KTB ที่ 'bbb-' สะท้อนถึงการที่ธนาคารมีนโยบายสินเชื่อที่มีความสม่ำเสมอน้อยกว่าและการควบคุมความเสี่ยงที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นของไทย แต่ทั้งนี้ได้พิจารณาถึงการพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นของนโยบายสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อรายย่อย

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ KTB มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อที่สูงและมาตราการช่วยเหลือลูกหนี้ แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 4.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 3.8% และคุณภาพของสินทรัพย์ (bb+) จะยังคงมีแรงกดดันต่อเนื่อง

ฟิทช์มองว่ามาตรการช่วยเหลือและมาตรการผ่อนปรนในเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ได้ช่วยชะลอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสต่อฐานะทางการเงินของธนาคารไทยทั้งระบบ รวมถึง KTB ด้วยซึ่งน่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2565 แต่อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (loan loss absorption buffers) ของ KTB มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพในอนาคตได้บ้าง โดยอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้สินด้อยคุณภาพอยู่ที่ 157.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 (2563:140.5%)

ความสามารถในการทำกำไรที่ชะลอตัวลงของ KTB มีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันต่อเนื่องในระยะสั้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ยังคงเผชิญกับความท้าทาย และแรงกดดันในด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ฟิทช์คาดว่าการตั้งสำรองหนี้สูญอาจปรับตัวลดลงแต่น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส และจะยังคงจำกัดความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร นอกจากนี้การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะล่าช้ากว่าคาดการณ์ยังเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของความสามารถในการทำกำไรของ KTB ดังนั้นอันดับคะแนนตามเกณฑ์ (implied factor score) จึงอยู่ในส่วนล่างของกลุ่ม 'bbb' (ฟิทช์ให้อันดับคะแนนที่ 'bb+') และสะท้อนถึงความผันผวนของความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศ

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากมีการปรับสูงขึ้นเป็น 99.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 แต่ฟิทช์มองว่าความสามารถในการระดมเงินของธนาคารยังคงมีความแข็งแกร่ง ฐานเงินฝากของธนาคารได้รับการสนับสนุนจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานของภาครัฐ และมีสัดส่วนของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2564 อยู่ที่ 82% ของเงินฝากทั้งหมด ฟิทช์คาดว่าความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานกับภาครัฐจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และช่วยสนับสนุนให้ธนาคารมีต้นทุนทางการที่ต่ำและช่วยสนับสนุนสภาพคล่องในระยะยาว

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ฟิทช์จัดอันดับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ KTB ที่ระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์พื้นฐานตามเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์

การใช้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเ ป็นอันดับเครดิตที่ใช้อ้างอิง(anchor rating) สะท้อนถึงความคาดหวังที่ว่ารัฐบาลจะเข้ามาให้การช่วยเหลือ KTB ก่อนที่จะถึงจุดที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (the point of non-viability) การจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น คุณสมบัติของการยกเลิกหรือการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล จะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB จะพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารที่อาจด้อยลงเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นในประเทศ

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KTB อาจถูกปรับลดลง หากฐานะทางการเงินของธนาคารปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจสะท้อนได้โดยการปรับลดคะแนนของปัจจัยต่างๆ ที่ใช้พิจารณาอันดับเครดิต โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดได้จากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง ตัวอย่างเช่น การที่ธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ลดลง ซึ่งอาจแสดงได้จากการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ต่ำกว่า 13 % เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564: 15.5%) ควบคู่ไปกับการลดลงของอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อหนี้สินด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 100% การปรับเพิ่มระดับความเสี่ยงของธนาคาร ซึ่งสะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงของคะแนนโครงสร้างความเสี่ยง และอาจนำไปสู่การปรับตัวด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญของคุณภาพสินทรัพย์และการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงวัฏจักรธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตได้เช่นกัน

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อาจเกิดขึ้นได้ หากความสามารถในการสนับสนุนจากรัฐบาลลดลง ซึ่งดูได้จากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย

นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KTB อาจถูกปรับลดอันดับได้ ในกรณีที่มีการปรับลดลงของแนวโน้มในการให้การสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ พร้อมทั้งการลดลงของระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
การปรับลดลงของอันดับเครดิตภายในประเทศ จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ ระยะยาวและ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB ไม่มีโอกาสปรับเพิ่มอีกแล้ว เนื่องจากเป็นอันดับเครดิตสูงสุดแล้ว

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจเกิดขึ้นได้ หากคุณภาพของสินทรัพย์และรายได้ของธนาคาร มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การปรับลดลงของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลงไปต่ำกว่า 3.5% (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564: 4.3%) พร้อมทั้งที่ยังคงรักษาระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ให้ทรงตัวหรือลดลง ควบคู่ไปกับการมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงขึ้นมากกว่า 2% (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564: 1.5%) และการดำรงเงินกองทุนที่แข็งแรงสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อับดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย ดังนั้นการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการบ่งชี้ถึงความสามารถที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลในการให้ความสนับสนุนแก่ KTB แต่อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาสมมุติฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการให้ความสนับสนุนด้วยว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ณ ระดับอันดับเครดิตของประเทศที่สูงขึ้น

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ สกุลเงินบาทของ KTB ไม่มีโอกาสปรับขึ้นได้อีก เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิงอยู่ในระดับที่สูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว

การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'

คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านรายได้และอัตรากำไรที่ 'bb+' อยู่ต่ำกว่าคะแนนตามเกณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม 'bbb' เนื่องจากการปรับลดคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'ความผันผวนของความสามารถในการทำกำไร'

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
KTB มีระดับคะแนนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)ที่ระดับ 4 สำหรับความสัมพันธ์ของโครงสร้างธรรมาภิบาล (Governance Structure) เนื่องจากมีโอกาสที่ภาครัฐจะมีอิทธิพลต่อการกำกับดูแลกิจการและความเสี่ยง (risk governance) จากการถือหุ้นโดยรัฐบาลในธนาคารรวมถึงจะสามารถมีอิทธิพลต่อคณะกรรมการและผู้บริหารซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อโครงสร้างเครดิตและสัมพันธ์ต่ออันดับเครดิตเช่นเดียวกับปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตอื่น การเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับรัฐบาลยังอาจเป็นปัจจัยที่เราพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับเครดิตสากลระยะยาว

หากมีการเปิดเผย ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จากwww.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น 'F1'
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ 'bbb-'
  • อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล ให้อันดับเป็น 'bbb+'
  • อันดับเครดิตสนับสนุน ยกเลิกอันดับเครดิต
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น 'AAA(tha)'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) ปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น 'AA(tha)'

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version