รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้าย
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากทั้งอันดับเครดิตสนับสนุนจากทางรัฐบาล และความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL ยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL รวมการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของประเทศไทยที่ยังคงมีความท้าทาย โดยฟิทช์ให้ระดับคะแนนที่ 'bbb' ทั้งนี้ระดับคะแนนตามเกณฑ์ของฟิทช์ (implied factor score) สำหรับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธนาคารไทยอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกลุ่ม 'bb' แต่ฟิทช์ได้มีการปรับเพิ่มคะแนนโดยใช้อันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+' เป็นปัจจัยในการพิจารณาปรับคะแนน ฟิทช์เชื่อว่าในระยะปานกลางรัฐบาลจะสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดการเงินและช่วยให้ธนาคารสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีกำไรและยั่งยืน ฟิทช์คาดว่าสภาพเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ที่ 4.8% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานของธนาคาร
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL ยังได้สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนในระดับคะแนนด้านโครงสร้างทางธุรกิจที่ 'bbb+' ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งของ BBL การดำเนินธุรกิจตามแผนได้อย่างสม่ำเสมอ และฐานลูกค้าที่หลากหลายซึ่งช่วยสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน BBL เป็นธนาคารไทยเพียงแห่งเดียวที่มีการดำเนินงานในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญซึ่งช่วยสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคาร จุดแข็งของธนาคารในการให้บริการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยส่งเสริมให้ระดับคะแนนสำหรับโครงสร้างความเสี่ยงของธนาคารอยู่ที่ 'bbb' ซึ่งสะท้อนว่าการยอมรับความเสี่ยงของธนาคารนั้นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่อื่นๆและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน
ฟิทช์ให้คะแนนสำหรับคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL อยู่ในระดับ 'bbb-' แนวโน้มเป็นลบ เนื่องจากอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของ BBL ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดโรคระบาดและอยู่ที่ 4.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 และฟิทช์คาดว่าจะปรับตัวขึ้นอีกในปีหน้า อย่างไรก็ตามธนาคารมีระดับสำรองหนี้สูญที่สูงมาก โดยยังคงรักษาอัตราส่วนสำรองหนี้สูญและสงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพไว้ที่ 190% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคธนาคารที่ 150% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2564) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการรองรับความเสี่ยงจากการปรับตัวแย่ลงของอัตราการผิดนัดชำระหนี้
ฟิทช์ให้คะแนนสำหรับรายได้และการทำกำไรของ BBL ที่ระดับ 'bbb-' แนวโน้มเป็นลบ ซึ่งสะท้อนมุมมองของฟิทช์ว่าระดับคะแนนตามเกณฑ์ของฟิทช์ (implied factor score) อาจลดลงไปอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกลุ่ม 'bb' ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล็กน้อยจากปี 2563 แต่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 1.2% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยกำไรของ BBL ได้รับแรงกดดันมาจากสภาพแวดล้อมดอกเบี้ยที่ต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าและต้นทุนเครดิตที่ยังคงสูง
อัตราส่วนเงินกองทุนของ BBL ได้ปรับตัวลดลงตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการธนาคาร Permata Tbk ของอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) อยู่ที่ 15.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อย่างไรก็ตาม BBL มีการจัดการเงินกองทุนอย่างระมัดระวังมาอย่างต่อเนื่องและสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของให้อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคการธนาคาร ฟิทช์ให้คะแนนสำหรับฐานะเงินทุนและระดับหนี้สินที่ 'bbb+' เนื่องจากฟิทช์คาดว่าในระยะกลางธนาคารจะสามารถเพิ่มอัตราส่วน CET1 ให้กลับขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารในกลุ่มเดียวกัน ด้วยกำไรสะสม (internal capital generation) เช่นเดียวกันกับธนาคารอื่น BBL ใช้วิธีมาตรฐานในการคำนวณสินทรัพย์เสี่ยง (standardized approach)
คะแนนสำหรับการระดมทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่ 'bbb+' ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากเครือข่ายทางธุรกิจในด้านเงินฝากที่แข็งแกร่ง และธนาคารได้ประโยชน์จากเงินฝากที่ไหลเข้าในช่วงที่ตลาดการเงินมีความผันผวนอันเกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารยังคงต่ำกว่าธนาคารอื่นและอยู่ที่ 81.0% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2564 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภาคการธนาคารที่ 94.1% BBL ยังคงรักษาระดับการถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องสูงอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (LCR) ที่ 283% ในไตรมาส 2 ปี 2564
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
ฟิทช์พิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจากการมองว่า BBL มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคาร BBL มีประวัติยาวนานในฐานะหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากที่ประมาณ 18% อีกทั้งธนาคารได้รับการกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 6 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบภายในประเทศ (D-SIB) ซึ่งสะท้อนถึงขนาดและระดับความสัมพันธ์ต่อระบบการเงินในประเทศ นอกจากนี้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลยังได้พิจารณาถึงความสามารถของรัฐบาลไทยที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารโดยสะท้อนในอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ฟิทช์จัดอันดับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ BBL ที่ระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิง (ซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน) อยู่ 2 อันดับ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) ซึ่งอันดับเครดิตของตราสารและจำนวนอันดับเครดิตที่ลดทอนจากอันดับเครดิตอ้างอิงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าว
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลพร้อมกันจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับเช่นกัน อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารจะได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'AA(tha)' หากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับ
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจถูกปรับลดลงเป็น 'bbb-' หากธนาคารมีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงมากกว่าที่ฟิทช์คาด ซึ่งอาจสะท้อนได้โดยการปรับลดคะแนนของปัจจัยต่างๆ ที่ใช้พิจารณาอันดับเครดิต รวมถึงคะแนนสำหรับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน ซึ่งอาจเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้ากว่าคาด หรือตำแหน่งทางการตลาดของธนาคารอ่อนแอลงจนไม่สามารถมีผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน และ/หรือ มีการยอมรับความเสี่ยงที่มากขึ้นโดยที่ไม่ได้มีปัจจัยบรรเทาความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยแรงกดดันดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่สูงกว่า 6% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ประกอบกับธนาคารมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยลง เช่น มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ต่ำกว่า 13 % และมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 120% และไม่สามารถรักษาระดับอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ระดับสูงกว่า 1.5%
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับหากฟิทช์เชื่อว่าความสามารถที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับ นอกจากนี้การปรับลดอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ BBL ลดลง เช่น จากการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่โอกาสที่ BBL จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารจะส่งผลให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BBL ได้รับการปรับลดอันดับ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ BBL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลหรืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ BBL ได้รวมการพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BBL อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของธนาคารปรับตัวดีขึ้นมาสอดคล้องกับธนาคารอื่นที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่คล้ายกัน ซึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างทางธุรกิจที่ทำให้ผลการดำเนินงานปรับตัวดีกว่าภาคธนาคารอย่างต่อเนื่อง และอาจได้รับปัจจัยผลักดันจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ดีและอาจแสดงให้เห็นโดยอัตราส่วนสำคัญทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การรักษาอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ระดับต่ำกว่า 3% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวสูงกว่า 2.5% (ณ สิ้นงวด 9 เดือนปี 2564: 1.2%) โดยที่ยังคงความสามารถในการรองรับความเสี่ยง เช่น การมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่สูงกว่า 16%
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่ม ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินในประเทศรวมถึง BBL อย่างไรก็ตามการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลต้องคำนึงถึงการที่โอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม ทั้งนี้หากอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ BBL ก็ไม่น่าที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BBL จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ
การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'
คะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองหนี้สูญ'
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ BBL มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg
BBL:
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'BBB'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F2'
- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb'
- อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล ให้อันดับที่ 'bbb'
- อันดับเครดิตสนับสนุน ยกเลิกอันดับเครดิต
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ยกเลิกอันดับเครดิต
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB'
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงอันดับที่ 'BB+'
ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์