GIZ และ UNEP ส่งเสริมการบริโภครูปแบบใหม่ผ่านข้อมูลด้านความยั่งยืน

อังคาร ๐๗ ธันวาคม ๒๐๒๑ ๐๘:๓๘
(จากซ้าย) ดร.อุล์ฟ แย็กเคล หัวหน้าแผนกการบริโภคอย่างยั่งยืนและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) และนางสาวปรีญาพร สุรรณเกษ รองอธิบดีกรมควมคุมมลพิษ

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับเครือข่าย One Planet Network ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับภูมิภาคทางออนไลน์ในหัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคด้วยข้อมูลด้านความยั่งยืน" โดยมีผู้กำหนดนโยบาย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องจากทวีปยุโรปและเอเชียมาร่วมแลกเปลี่ยนนโยบาย เครื่องมือและรูปแบบทางธุรกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน

การบริโภคอย่างยั่งยืนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องอาศัยแนวทางการบูรณาการองค์ความรู้และข้อมูลเชิงวิชาการจากหลากหลายสาขา ตลอดจนแนวทางความร่วมมือในระดับโลก ทั้งนี้ ประเด็นเร่งด่วนในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้การปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคและการใช้ทรัพยากรต่างๆ กลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาแผนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ที่คำนึงถึงการบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้น

นางสาวปรีญาพร สุรรณเกษ รองอธิบดีกรมควมคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานว่า "รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SCP) โดยได้จัดทำนโยบาย รวมถึงกำหนดมาตรการและกลไกต่างๆ เพื่อพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ (GPP) ซึ่งจากการดำเนินการในระยะที่สองสามารถประเมินมูลค่าของผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับราว 76,000 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 11 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแผนปฏิบัติการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ ฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 - 2570 ที่มุ่งเน้นการเพิ่มสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตลาดและระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การส่งเสริมการผลิตและการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการดังกล่าว"

"ประเทศไทยมีความยินดีที่ได้มีส่วนสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในวันนี้ และขอขอบคุณรัฐบาลเยอรมนีที่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินในการดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และภูฎาน) หรือ SCP Outreach อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด" นางสาวปรีญาพร กล่าวเพิ่มเติม

ดร.อุล์ฟ แย็กเคล หัวหน้าแผนกการบริโภคอย่างยั่งยืนและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) กล่าวในพิธีเปิดและการปาฐกถาในหัวข้อนโยบายเกี่ยวกับข้อมูลของผู้บริโภคในประเทศเยอรมนีและยุโรปว่า "เป้าหมายของเรา คือ การที่ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทน นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซ่อมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รีไซเคิลได้และให้ประสิทธิภาพทางพลังงานมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเยอรมนีจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกัน

นานาประเทศในการพัฒนานโยบายและเครื่องมือต่างๆ ให้สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เราได้ดำเนินงานร่วมกับประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียในการบูรณาการหลักเกณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาให้การรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม การสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอย่างยั่งยืน"

มร. ไค ฮอฟมันน์ ผู้อำนวยการโครงการด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน จาก GIZ กล่าวว่า "ผู้บริโภคทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศ รวมถึงบริษัทและองค์กรต่างๆ ก็กำลังดำเนินงานเพื่อสนองตอบต่อกระแสด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น อิเกีย ประเทศไทย เพิ่งเปิดตัว Circular Shop ซึ่งเป็นบริการรับซื้อสินค้าคืน (Buy Back) และขายต่อ (Resale) เฟอร์นิเจอร์อิเกียที่ผ่านการใช้งานแล้ว เพื่อยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ลดการใช้วัตถุดิบและส่งเสริมการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรืออีกหนึ่งตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้ โดยในปี พ.ศ. 2554 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและสถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐเกาหลี ได้เปิดตัวระบบบัตรสะสมคะแนน (Green Credit Card) เพื่อส่งเสริมรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้ใช้บัตรสามารถสะสมคะแนนเมื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจที่ร่วมรายการ"

"การสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ไม่ได้หมายความว่า ความรับผิดชอบในการลดผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและการบริโภคสินค้าจะตกอยู่กับผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว แต่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน" มร. ฮอฟมันน์ กล่าวเสริม

เกี่ยวกับ SCP Outreachโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และภูฎาน) หรือ SCP Outreach ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) โดยมี GIZ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการ SCP Outreach สนับสนุนการพัฒนากรอบนโยบายและการเพิ่มขีดความสามารถเชิงสถาบัน โดยมุ่งเน้นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ (GPP) และฉลากสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินงานใน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และภูฎาน ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ซึ่งกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการฯ

ที่มา: องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก