สอวช. แนะสถาบันอุดมศึกษาสร้างระบบนิเวศ ส่งเสริมนักวิจัยนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ชี้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะขับเคลื่อนได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย

อังคาร ๐๗ ธันวาคม ๒๐๒๑ ๐๙:๔๙
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมบรรยายหัวข้อ "การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" ภานใต้เวทีเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ ในประเด็น "กฎหมายใหม่ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานของมหาวิทยาลัยได้อย่างไร"

ดร. กิติพงค์ เริ่มจากการกล่าวถึงที่มาที่ไปของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ว่าเกิดจากการที่เราหันไปมองถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยเป็น Comparative Advantage ในเชิงของทรัพยากรและแรงงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องประสบกับปัญหาจากกฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลง (Diminishing Returns) ทำให้ต้องย้อนกลับมาดูจำนวนทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) หรืองานวิจัยในประเทศ พบว่ายังมีจำนวนน้อย ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ระยะเวลาการออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) จึงต้องพยายามหาแรงจูงใจให้สามารถพัฒนาในส่วนนี้ให้ขยับขึ้นไปได้ เป็นผลให้เกิด พ.ร.บ.ฯ นี้ขึ้น เพื่อเข้ามาช่วยปลดล็อกเรื่องการเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา

ในประเทศไทยมีการผลักดันกฎหมายไปพร้อมกันหลายฉบับ บางฉบับออกมาเป็นกฎหมายส่งเสริม อย่างกฎหมายของปี 2562 ที่เป็นกฎหมายส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อ พ.ร.บ.ฯ นี้เกิดขึ้นก็จะเข้าไปเติมเต็มกฎหมายฉบับเดิมในเชิงของการปลดล็อกผลงานวิจัย นอกจากนี้ ยังมีการทำกฎหมายลูกออกมา อาทิ ระเบียบการให้ทุนกับเอกชนโดยตรง หรือแนวทางการจัดทำกองทุนที่ไปสนับสนุนเอกชน เช่น กองทุน Innovation Fund ที่รัฐบาลและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เงินทุนเข้าไปสมทบกับกลุ่ม SME ซึ่งกรณีนี้ก็จะต้องปลดล็อกให้ผลงานที่เกิดจากทุนของรัฐบาลตกไปอยู่ที่ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

"ล่าสุดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายในการนำประเทศไทยออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งวิธีที่จะเป็นทางออกได้คือต้องสร้าง Innovation Driven Enterprise (IDE) หรือผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยทำได้ตั้งแต่การยกระดับ SME การเพิ่มจำนวน IDE เพื่อเป็น New Growth Engine ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และในกลุ่มสตาร์ทอัพ การจะผลักดันให้เติบโตและยั่งยืนได้ ต้องเข้าไปทำเรื่องระบบนิเวศ ทำให้สตาร์ทอัพมีเทคโนโลยีหลักหรือเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เป็นของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะทำได้ยากมากหากไม่ได้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เพราะในด้านวิชาการ นักวิจัย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำนั้นอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการจะทำให้ระบบนิเวศนี้สมบูรณ์ได้มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน" ดร. กิติพงค์ กล่าว

พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ฉบับนี้จะเข้าไปปลดล็อกให้นักวิจัย หรือผู้รับทุนที่ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ที่ได้รับเงินสนับสนุนของรัฐ ให้ได้เป็นผู้ถือครองสิทธิในผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานวิจัยนั้น โดยกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายคือต้องการให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งตัวนักวิจัยเพียงลำพังอาจไม่สามารถผลักดันงานวิจัยนั้นออกไปได้ มหาวิทยาลัยจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการผลักดันด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ได้พูดถึงเรื่องข้อกำหนดในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ภายในเวลา 2 ปี แต่กรณีไม่ใช้ประโยชน์ก่อนครบระยะเวลาที่กำหนด สามารถยื่นคำขอพร้อมแสดงหลักฐานความพยายามในการใช้ประโยชน์ได้ จึงถือเป็นอีกสิทธิประโยชน์ที่นักวิจัยสามารถทำได้

สำหรับข้อสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 23 มาตรา โดยแบ่งเป็น 6 หัวข้อย่อย ได้แก่ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย, ขั้นตอนการเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม, การนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์, เมื่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของหน่วยงานรัฐ, การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็น "เทคโนโลยีที่เหมาะสม", และการบังคับใช้สิทธิ โดยกฎหมายนี้ได้มีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันข้างหน้า และในระหว่างนี้ สอวช. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จะต้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดของกฎหมายลูกเพิ่มเติมต่อไป

ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงกลไกการจัดตั้ง University Holding Company ที่มีความเกี่ยวข้องกันกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากเมื่อปลดล็อกให้ผลงานวิจัยไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยแล้ว จะต้องดูว่ามหาวิทยาลัยจะมีความสามารถในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร โดยสภานโยบายฯ ได้ออกแนวทางส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสามารถนำเงินรายได้ไปร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้ ทำให้มหาวิทยาลัยให้มีความสามารถในการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีการจัดตั้งเป็น Holding Company แล้ว 5 แห่ง ได้แก่ CU Enterprise ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บจก. อ่างแก้ว โฮลดิ้ง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บจก. M Venturer ของมหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท นววิวรรธ จำกัด ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), และ TUIP ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO