ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิต บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ เป็นลบ คงอันดับเครดิตที่ BBB+(tha)

พุธ ๐๘ ธันวาคม ๒๐๒๑ ๐๙:๒๓
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตดังกล่าวที่ 'BBB+(tha)' ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัทฯ ที่ 'F2(tha)' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวสำหรับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของบริษัทฯที่ 'BBB+(tha)'

แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ BAFS ต้องเผชิญในการลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ที่อาจส่งผลให้มีการปิดเมือง (Lockdown) และการบังคับใช้ข้อจำกัดในการเดินทางต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศทั่วโลกล่าช้าออกไป และอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ BAFS ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

นอกจากนี้ ฟิทช์ยังเชื่อว่าธุรกิจท่อขนส่งน้ำมันของ BAFS ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ก็น่าจะอ่อนแอกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ เว้นแต่จะมีการใช้จ่ายลงทุนในระดับสูงสำหรับโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน ซึ่งรายละเอียดของโครงการเชื่อมท่อขนส่งน้ำมันดังกล่าว รวมถึงแผนการจัดหาเงินทุน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ดังนั้น ฟิทช์จึงไม่ได้รวมโครงการเชื่อมท่อขนส่งน้ำมันดังกล่าวไว้ในประมาณการ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่วัดจากหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) จะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 35 เท่า ถึง 40 เท่า ณ สิ้นปี 2564 (ปี 2563 อยู่ที่ 23 เท่า) ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ในระดับ 10 เท่าในปี 2565 และ 5 เท่าถึง 6 เท่าในปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของฟิทช์ในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง มีสาเหตุมาจากปริมาณการสัญจรทางอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ หลังจากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีการจำกัดการเข้าออกประเทศ ซึ่งทำให้การเดินทางทางอากาศถูกจำกัด รวมถึงการลงทุนของ BAFS ที่อยู่ในระดับสูงรวม 2.7 พันล้านบาท ซึ่งใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืม โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS จะเริ่มลดลงในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของธุรกิจการบิน หลังจากที่ประเทศไทยได้เปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ในขณะเดียวกัน บริษัทย่อยในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งเข้าลงทุน ก็น่าจะทำให้ BAFS มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอเพิ่มเข้ามา แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใช้ไป

การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะสั้น: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS ในปี 2564 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 25-30 ของปริมาณการเติมน้ำมันในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศโดยส่วนใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเกือบตลอดทั้งปี ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 55 และร้อยละ 85 ของระดับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ประเทศไทยได้เปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ทั้งนี้ ฟิทช์ไม่คาดว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากระดับความแตกต่างของอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ยังคงมีอยู่ รวมถึงความเป็นไปได้ของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ประมาณการของฟิทช์ อยู่บนสมมติฐานว่าข้อจำกัดการเดินทางต่างๆ ที่อาจถูกนำมาบังคับใช้อีกครั้ง จะเป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่ หรือในช่วงเวลาสั้น และมีความเข้มงวดน้อยกว่ามาตรการที่ใช้ในปี 2563

ธุรกิจท่อขนส่งน้ำมันที่อาจอ่อนแอกว่าคาด: โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยทั้ง 2 ระยะได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 อย่างไรก็ตามผลประกอบการของธุรกิจดังกล่าวในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้าอาจอ่อนแอกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากการเลื่อนโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน FPT วางแผนที่จะเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมันของบริษัทฯ กับระบบท่อขนส่งน้ำมันอีกระบบ ซึ่งจะทำให้ระบบท่อขนส่งน้ำมันของ FPT สามารถรับปริมาณน้ำมันจากคลังน้ำมันบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศไทยได้ BAFS คาดว่า FPT อาจต้องใช้เวลานานขึ้น 4-5 ปีในการเพิ่มปริมาณขนส่งน้ำมันให้ได้ถึงระดับที่วางแผนไว้เดิม หากไม่มีการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมันดังกล่าว

ค่าใช้จ่ายลงทุนเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่อขนส่งน้ำมัน: เนื่องจากปัจจัยทางด้านเทคนิค FPT ได้ประเมินค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมันใหม่และพบว่าค่าใช้จ่ายลงทุนที่ประเมินใหม่เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยวางแผนไว้เดิมมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรายละเอียดของโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งดังกล่าว รวมถึงแผนการจัดหาเงินทุน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ดังนั้น ฟิทช์จึงไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายลงทุนและแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการเชื่อมท่อระบบขนส่งดังกล่าวไว้ในประมาณการ รวมทั้งนำรายได้ส่วนเพิ่มที่เคยคาดว่าจะได้รับภายหลังการเชื่อมระบบท่อขนส่งแล้วเสร็จในปี 2566 ออกจากประมาณการด้วย

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยาน: BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน (โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 89) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับสายการบินต้นทุนต่ำ BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อย เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับสัมปทานจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้

ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่

รายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน: แม้ว่าแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจการบินจะอ่อนแอลงจากก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่การที่ BAFS ได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจพลังงานหมุนเวียน น่าจะช่วยสนับสนุนสถานะทางธุรกิจของ BAFS ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าให้ยังคงแข็งแกร่ง จากกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับระดับของความเสี่ยงจากแหล่งพลังงาน โดยโครงการพลังงานหมุนเวียนได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีอายุเฉลี่ย 20-25 ปีกับคู่สัญญาที่มีความแข็งแกร่ง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัทชั้นนำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสำหรับโครงการในประเทศญี่ปุ่น

อันดับเครดิตของบริษัทฯ และหนี้ไม่มีประกันอยู่ในระดับเดียวกัน: ฟิทช์ไม่ได้ปรับลดอันดับเครดิตสำหรับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของบริษัทฯ ลงจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ เนื่องจากฟิทช์เห็นว่าอัตราการได้รับชำระหนี้คืนของเจ้าหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของบริษัทฯ น่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยเป็นอย่างน้อย หนี้ที่มีหลักประกันส่วนใหญ่เป็นหนี้ของบริษัทย่อยหลักของ BAFS ที่มีการดำเนินงานได้แก่ FPT ซึ่งทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันของ BAFS มีสถานะด้อยสิทธิกว่าในเชิงโครงสร้าง (Structural Subordination) ในขณะที่ หนี้สินประเภทสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ของบริษัทย่อย ในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งเข้าลงทุน ก็ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันของ BAFS มีสถานะด้อยสิทธิมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด หรือ TARCO บริษัทย่อยหลักอีกแห่งของ BAFS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยานใต้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้น รายได้ที่น่าจะมีความสม่ำเสมอของ BAFS และ TARCO หลังจากปี 2565 และความสามารถของ BAFS ในการเข้าถึงกระแสเงินสดของ TARCO รวมถึงหนี้สินในระดับของ BAFS โดยลำพังที่ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากนัก น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราการได้รับชำระหนี้คืนของเจ้าหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของ BAFS อยู่ในระดับเฉลี่ยดังกล่าว

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีรายได้ร้อยละ 70-80 มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ดังนั้น ทั้งสองบริษัทจึงมีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดของ BAFS ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ในขณะที่ธุรกิจของ NNEG ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่ามาก BAFS มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า NNEG ซึ่งมีการกระจุกตัวของทรัพย์สินในทำเลที่ตั้งเดียวและดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่เคยอยู่ในระดับต่ำกว่า NNEG ได้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับอัตราส่วนหนี้สินของ NNEG เป็นอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินของ NNEG ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากการลงทุนที่อยู่ในระดับสูงของ BAFS ในปี 2564 ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่า NNEG หนึ่งอันดับเนื่องจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าเป็นอย่างมาก

ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) เช่นเดียวกันกับ NNEG GPSC มีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว อย่างไรก็ตาม GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า BAFS เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์และรายได้ที่ดีกว่า อัตราส่วนหนี้สินของ GPSC ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า BAFS แต่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในระดับสูงของ GPSC ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC หนึ่งอันดับ

เช่นเดียวกับ BAFS บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF (BBB-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางภายใต้แนวความคิดศูนย์การค้าชุมชนในประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นอย่างมาก ธุรกิจของ SF ถือว่ามีรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้อยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีสัญญาเช่าระยะปานกลางถึงยาวกับผู้เช่ารองรับ แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ SF ต้องให้ส่วนลดค่าเช่าจำนวนมากแก่ผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบ SF มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า BAFS และเผชิญกับการแข่งขันที่สูงกว่า อัตราส่วนหนี้สินของทั้งสองบริษัทน่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SF สองอันดับเนื่องจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าเป็นอย่างมาก

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานลดลงในอัตราร้อยละ 29 ในปี 2564 มาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 27 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส (ปี 2563 อยู่ในระดับร้อยละ 38) และฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 55 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในปี 2565 และร้อยละ 85 ในปี 2566
  • ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านท่อของ FPT ในปี 2564 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 โดยปริมาณขนส่งน้ำมันอากาศยานที่ลดลงร้อยละ 28-29 ได้รับการชดเชยจากปริมาณขนส่งน้ำมันภาคพื้นดินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดดำเนินการของท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564; ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านท่อของ FPT เพิ่มขึ้นร้อยละ 30-32 ในปี 2565 และร้อยละ 22-24 ในปี 2566 ทั้งนี้อยู่บนสมมติฐานว่าไม่มีการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน
  • อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 14-15 ในปี 2564 (ปี 2563 อยู่ที่ ร้อยละ 17.4) และเพิ่มกลับขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 40 ในปี 2565 และร้อยละ 50-52 ในปี 2566 ตามการฟื้นตัวของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยาน
  • ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนประมาณ 1.1 พันล้านบาทในปี 2564 จำนวน 250 ล้าน- 350 ล้านบาทต่อปีในปี 2565-2566
  • ไม่มีการรวมค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งและการลงทุนเพิ่มเติมในปี 2565-2566

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:
-แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 6.0 เท่าได้ภายในปี 2566

ปัจจัยลบ:
-อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 6.0 เท่าหลังจากปี 2566

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ: BAFS มีหนี้สินทั้งหมดจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 โดยหนี้สินจำนวนประมาณ 1.5 พันล้านบาทจะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หลังจากสิ้นเดือนกันยายน 2564 หนี้สินจำนวนประมาณ 320 ล้านบาทได้รับการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ออกไปเป็นปี 2566 ในขณะที่เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 700 ล้านบาทน่าจะสามารถต่ออายุออกไปหากมีความจำเป็น สภาพคล่องของ BAFS ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดเงินสดคงเหลือและเงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามคำจำกัดความของฟิทช์) จำนวน 1.1 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อแบบผูกพันไว้แล้วที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Undrawn Committed Facility) จำนวน 500 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564

ลักษณะธุรกิจ
BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2 แห่ง BAFS มีบริษัทย่อยที่ BAFS ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 72 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อ จากคลังน้ำมันบางจากไปยังท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งและเป็นเจ้าของระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือระบบแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ BAFS ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำลังผลิตรวม 36 เมกะวัตต์ในประเทศไทยและ 13 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่น

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ