พร้อมเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี ค.ศ.2050 (ปี พ.ศ. 2593) สะท้อนจากโครงการล่าสุดในประเทศคือ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง วินด์ฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ ในจังหวัดมุกดาหาร ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการเข้าร่วมลงทุน 90% ในโครงการไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 14 เมกะวัตต์ในประเทศโปแลนด์ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของ บี.กริม เพาเวอร์ในการเข้าลงทุนในยุโรปตะวันออก และการเข้าซื้อหุ้น 80% ใน Huong Hoa Holding Joint Stock Company ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 48 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม
ตอกย้ำด้วย เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทได้รับรองเงินกู้ "สีเขียว" ที่มีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Loan Certificate) จาก Climate Bonds Initiative หรือ CBI องค์กรอิสระระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมแก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DT ในประเทศเวียดนาม จำนวนรวม 160.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นเงินกู้สีเขียวชุดที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามภายหลังจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen ขนาด 257 เมกะวัตต์ในปี 2563
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าใช้งบลงทุนทั้งหมดประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) ตามแผนในปัจจุบันและโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาที่คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ในปี 2565 ทั้งที่เป็นโครงการสัมปทานใหม่ (กรีนฟิลด์) และแผนการซื้อกิจการ (M&A) โดยคาดว่าจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังการผลิตที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 4,015 เมกะวัตต์ มุ่งสู่เป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573
ในปี 2565 บริษัทจะมีการเติบโตของกำลังการผลิตถึง 23% จาก 2,894 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 3,544 เมกะวัตต์ จากการ COD และแผนการ M&A นอกจากนี้จะมีลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ที่รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 55 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ยังมีแผนการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยเป้าหมายที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 100 ล้านบาทและคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 700 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนด COD ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะช่วยประหยัดอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติลง 15% ขณะที่จะมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซในอนาคต เมื่อเริ่มนำเข้า LNG ด้วย
"เราตั้งเป้าขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศและร่วมทุนกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งทุกประเทศที่เราเข้าไปไม่เพียงเข้าไปแค่ทำโรงไฟฟ้า และขายไฟฟ้า หรือทำธุรกิจในระยะสั้นๆ แต่เป้าหมายคือ เราต้องการสร้าง บี.กริม ในประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการใช้เวลา" ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานในรอบ 11 เดือน ของปี 2564 ว่าบริษัทมีการลงทุนที่สำคัญ โดยเข้าไปร่วมทุน (M&A) ในโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ รวม 4 โครงการ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มอย่างน้อย 510 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยการเข้าร่วมลงทุน 90% ในโครงการไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 14 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศโปแลนด์ โดยมีกำหนด COD ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของ บี.กริม เพาเวอร์ ในการเข้าลงทุนในยุโรปตะวันออก การเข้าลงทุน 80% ใน Huong Hoa Holding Joint Stock Company โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม มีกำหนด COD ในปี 2565 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้า SPPs 3 โครงการ ผ่านการถือหุ้นในบริษัทย่อย 45% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังและนิคมอุตสาหกรรมบางปู กำลังการผลิตติดตั้งรวม 360 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคม 2564 และการเข้าลงทุนในบริษัท reNIKOLA Holding SDN BHD ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ COD แล้ว 3 โครงการ รวม 88 MW
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ตลอดปี 2564 บี.กริม เพาเวอร์ ยังได้รับรางวัลระดับประเทศหลากหลาย ซึ่งตอกย้ำวิสัยทัศน์ของบริษัท โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกาศคัดเลือกให้ บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ใน "รายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI)" ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 นอกจากนี้ ยังได้รับคะแนน 94% สำหรับโครงการสำรวจและติดตามพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย (CGR) จัดทำโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ในระดับ "ดีเลิศ" (5ดาว) ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสังคม ตลอดจนการยึดมั่นในการกำกับดูแลกิจการที่ดีในด้านกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมบริษัทได้ดำเนินกิจกรรมที่ครอบคลุมในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2563 บริษัทได้เปิดตัวโครงการสำคัญอย่าง "บวรบี.กริม" (B.Grimm Smart Village) มีเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนให้เติบโตเข้มแข็ง มีคุณภาพและศักยภาพให้ทุกคนมีงานทำ มีรายได้ที่มั่นคงยั่งยืน มีความรักถิ่นฐานบ้านเกิดดำรงชีวิตอย่างสมดุลและมีความสุข โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ
"ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" และ "บวร (บ้าน วัด โรงเรียน)" ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้กับบริบทของชุมชน นอกจากการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน บริษัท บี.กริม ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการเป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) ใน "โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง" มานานกว่า 8 ปี มุ่งเป้าไปที่การอนุรักษ์เสือโคร่ง ซึ่งเปรียบเหมือนดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่า เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศในภาพรวม
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพระราชูปถัมภ์ มอบทุนการศึกษาสมเด็จย่า 90 ประจำปี 2564 มอบให้แก่นักศึกษาพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อสืบสานตามแนวพระปณิธานตามเจตนารมณ์ทางวิชาชีพพยาบาล และอุดมการณ์ตามรอยสมเด็จย่า ในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร "พยาบาล" ซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง
ที่มา: บี.กริม เพาเวอร์