ธนาคารไทยเครดิตฯ เผยผลสำเร็จปลูกฝังพ่อค้าแม่ค้าให้มีความรู้ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ตลอด 5 ปี กว่า 65,000 ราย

พุธ ๑๕ ธันวาคม ๒๐๒๑ ๑๓:๕๔
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด กว่า 65,000 ราย โดยเฉพาะปีนี้เพียงปีเดียว มีผู้เข้าอบรมผ่านออนไลน์ถึง 25,000 ราย

ด้วยความเชื่อมั่นว่าความรู้ทางการเงิน จะช่วยให้รู้ทิศทางการเงินในแต่ละวัน รู้จักการวางแผนการเงิน และเป็นภูมิคุ้มกันต้านวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงพิษเศรษฐกิจจากโควิด จากก้าวแรกกับหลักสูตรทางการเงิน โครงการพ่อค้าแม่ค้าพากเพียร ปี 2560 จวบจนปีนี้ได้มีการยกระดับมาตรฐานหลักสูตรใหม่ภายใต้ชื่อ โครงการตังค์โต Know-how หาตังค์ เก็บตังค์ ต่อยอดตังค์ มีจำนวนผู้เข้าอบรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องทุกปี จากปีแรกหลักร้อย ปัจจุบันทวีคูณเป็นหลักหมื่น จึงเป็นเครื่องการันตีถึงผลสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี

นายรอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิตฯ เผยว่า "จากความมุ่งมั่นและความตั้งใจที่จะให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งเป็นฐานรากของเศรษฐกิจประเทศ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเติบโตในเส้นทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของธนาคารฯ ภายใต้ปรัชญา Everyone Matters ใครไม่เห็น เราเห็น จึงได้ดำเนินโครงการหลักสูตรทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยต้นปี 2564 ทางธนาคารฯ ได้พัฒนาหลักสูตรการเงินใหม่ให้สอดคล้องกับหลักวิชาการ ภายใต้ชื่อ "โครงการตังค์โต Know-how" โดยได้รับการรับรองมาตรฐานจาก คณะบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นหลักสูตรความรู้ทางการเงิน ที่จะช่วย หาตังค์ เก็บตังค์ ต่อยอดตังค์ อันเป็นอาวุธหลักที่จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยนำไปปรับใช้ และเอาตัวรอดในวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางธนาคารฯ ได้มีการปรับแผนกลยุทธ์โครงการฯ จากการอบรมแบบออนกราวน์ สู่การอบรมแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งคลิปวิดีโอแอนิเมชัน รวมถึงเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยมีผู้เข้าอบรมเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยของธนาคารฯ และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ที่มีความหลากหลายทางอาชีพ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งที่มีการไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีผู้เข้าอบรมเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 37%

ด้วยจำนวนผู้อบรมที่เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นหนึ่งในมิติที่วัดผลสำเร็จของโครงการฯ นอกเหนือจากพฤติกรรมและวินัยทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้เข้าอบรมในทิศทางที่ดีขึ้น โดยพบว่า 84% ของผู้เข้าอบรม มีวินัย และบริหารจัดการในการชำระหนี้ที่ดีขึ้น และ 11% สามารถสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ อีกหนึ่งมิติคือโครงการเป็นที่ยอมรับ และชื่นชมจากภาครัฐ ในการเป็นสถาบันการเงินที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเงินให้แก่ประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังที่เห็นจากการได้รับเชิญจากกรมการพัฒนาชุมชนให้เป็นวิทยากรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเงินสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง"

โดย เตือนใจ อุ่นจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาทุนชุมชน สำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกลุ่มงานฯ ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการเงินต่างๆ การบริหารจัดการการออมทรัพย์ การบริหารจัดการหนี้ในครัวเรือน ผ่านวิทยากรจากทางธนาคารฯ ที่มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมทั้งยังได้ฝึกอบรมทีมนักวิชาการสำนักพัฒนาทุนฯ ให้เป็นวิทยากรมืออาชีพอีกด้วย เพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชนต่อไป "เราเห็นพ้องเรื่องของการบริหารจัดการด้านการเงินเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะสร้างความมั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น โดยปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายจะขยายองค์ความรู้ทางการเงินนี้ในพื้นที่ ทั่วประเทศ โดยธนาคารฯ จะได้ส่งทีมวิทยากรร่วมลงพื้นที่อบรม โดยนำร่องการอบรมให้แก่คณะกรรมการและสมาชิกโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน 14 แห่ง ใน 13 จังหวัด"

"ในปีหน้าธนาคาร จะยังพัฒนาหลักสูตรความรู้ทางการเงิน โครงการตังค์โต Know-how ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น ลงลึกในด้านธุรกิจและการเงิน ที่ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งทางทฤษฎี การลงมือปฏิบัติจริง และแชร์ประสบการณ์จริงจากผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าอบรมได้เสริมความรู้และสามารถนำไปต่อยอดในธุรกิจของตัวเอง" นายรอย กล่าวเสริม

ส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้เข้าอบรมในโครงการตังค์โต Know-how เผยถึงความสำคัญของการมีความรู้ทางการเงิน โดย จันทนา จงสำราญ เจ้าของธุรกิจโรงงานน้ำดื่มขนาดเล็ก จ.กาฬลินธุ์ เผยว่าการบันทึกรายรับ รายจ่าย ช่วยให้วางแผนทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้มีเงินเก็บที่เพิ่มมากขึ้นจากการค้าขาย

ด้าน อัญชรี วิญญู เจ้าของธุรกิจร้านขายของชำ จ.อ่างทอง เผยว่าเพราะการเรียนรู้จากโครงการฯ ที่ช่วยให้ปลดหนี้จากหนี้นอกระบบได้ ทำให้เวลานี้สามารถปิดหนี้นอกระบบแล้ว 2 ราย โดยยังคงเหลือหนี้กับทางธนาคาร ที่ตัวเราเองต้องสร้างเครดิตที่ดีด้วยการไม่ผิดชำระหนี้ ซึ่งจากความรู้ที่ได้ นับว่ามีประโยชน์สำหรับตนเองเป็นอย่างมาก

ส่วน พรนภา เตจา เจ้าของธุรกิจปลาเผา จ.เชียงใหม่ เผยว่าความรู้ทางเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ ยิ่งสถานการณ์โควิดที่ทำให้เราต้องรู้จักปรับตัวตามเงินเก็บในบัญชีที่เรามี ต้องรู้จักวางแผนทางการเงินให้รัดกุม เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับธุรกิจและเงินส่วนตัว เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะจบลงเมื่อไร โดยปกติจะนำเงินกำไรที่ได้ฝากเข้าบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์เพื่อเก็บไว้เป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน แต่เมื่อได้เข้ามาอบรมในโครงการฯ ทำให้ได้ศึกษารูปแบบการออมเงินในประเภทต่างๆ

ในขณะที่ รุ้งลาวัลย์ สกุลมาลัยทอง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กรุงเทพฯ เผยว่านอกจากความรู้ทางการเงินที่ทุกคนควรมี เงินสำรองฉุกเฉิน และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการหาเงินให้แก่ธุรกิจก็ต้องมีเช่นกัน "ได้เข้าอบรมเพื่อต้องการหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะนำไปสอนเด็กๆ ต่อ แต่พอได้รับฟังข้อมูลต่างๆ จึงมีการนำมาปรับใช้กับตัวเองเช่นกัน สิ่งที่ชอบจากการอบรมคือวิทยากรสามารถย่อยภาษาทางการตลาดให้เข้าใจได้ง่าย มองเห็นภาพเส้นทางการเติบโตของธุรกิจได้ชัดเจน และยังให้ความสำคัญเรื่องการมีเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับกลุ่มคนประเภทต่างๆ รวมถึงรูปแบบการหาเงินในธุรกิจในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ ต้องรู้จักปรับรูปแบบการค้าขายใหม่ไปสู่การค้าแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อค้าแม่ค้าควรให้ความสำคัญ"

ตัวแทนที่เข้าอบรมจากกรมการพัฒนาชุมชน เอ็นดู ปานสุวรรณ หนึ่งในคณะกรรมการโรงเรียนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต บ้านหนองผักนาก จ.สุพรรณบุรี "โครงการฯ แนะแนวให้เราค้นหาอาชีพเสริม ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะรายได้ที่ได้จากอาชีพหลักจะเป็นเงินที่ไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่วนรายได้ที่ได้จากอาชีพเสริมจะเป็นเงินสำหรับไว้เก็บออม และวิทยากรที่อบรมยังแนะนำเรื่องการบริหารเงินที่ใกล้ตัวชาวบ้านอย่างพวกเรามากๆ คือเรื่องการเสี่ยงโชค ที่แนะนำว่าให้ลดการใช้จ่ายในส่วนนี้ลงครึ่งหนึ่ง แล้วนำอีกครึ่งหนึ่งมาเก็บออม ซึ่งเป็นทางออกที่ดีของคนที่ชอบการเสี่ยงโชค ความชอบยังมีอยู่ โดยที่ยังมีเงินเก็บออมได้เช่นกัน"

สำหรับผู้ที่สนใจหลักสูตรตังค์โต Know-how สามารถเข้าชมได้ที่เฟซบุ๊ก ตังค์โต Know-how by Thai Credit, เว็บไซต์ www.tcrbank.com หรือโทร.02-6975454

ที่มา: แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ