งานแถลงข่าวจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม 2564 ณ ห้อง รฦกคุณ อาคารบรมนาถศรียครินทร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย ศ.ทพ.ดร.ธนภูมิ โอสถานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคุณศศิศ มนต์เสรีนุสรณ์ ประธานกรรมการผู้บริหารบริษัท สุรินทร์ ออมย่า เคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด และนักวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมทางทันตแพทยศาสตร์แห่งจุฬาฯ ร่วมงานแลงข่าวในครั้งนี้ ภายในงานมีการนำเสนอผลการพัฒนาและทดสอบความสามารถของยาสีฟัน และความสามารถในการสะสมแร่ธาตุกลับคืนบนผิวฟันซึ่งวิจัยและพัฒนาโดยความร่วมมือของสองหน่วยงานภายใต้ผลิตภัณฑ์แบรนด์คูฬเดนท์
ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปาก "คูฬเดนท์" จากศูนย์นวัตกรรมทันตแพทยศาสตร์แห่งจุฬาฯ ได้รับมาตรฐานผ่านการจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับองค์กรอาหารและยาแล้ว ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์คูฬเดนท์ในครั้งนี้ บริษัทสุรินทร์ ออมย่า เคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุนวัตถุดิบที่ผลิตขึ้นในประเทศสำหรับใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาสีฟันที่ผลิต คือผลิตภัณฑ์แคลเซียมคาร์บอเนต (OMYACARE S 80 - LR) ซึ่งผลิตและพัฒนาโดยเหมืองบริษัทสุรินทร์ ออมย่า เคมิคอล (ประเทศไทย) จำกัด ณ แหล่งผลิตจังหวัดลพบุรี นอกจากนี้ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ไฮดรอกซิอะพาไทต์-แคลเซียมคาร์บอเนต (OMYADENT 100 - OG) ให้แก่ศูนย์นวัตกรรมทันตแพทยศาสตร์แห่งจุฬาฯ เพื่อใช้ในกิจกรรมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปาก ส่งเสริมศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ และบรรลุตามเป้าหมายแผนดำเนินงานภายใต้พันธกิจของศูนย์นวัตกรรมฯ ที่ได้กำหนดไว้
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันที่พัฒนาขึ้นมี 2 สูตร สูตรแรก คือ ยาสีฟันคูฬเดนท์ คูลลิ่ง เปปเปอร์มิ้นท์ (CUdent Cooling Peppermint) พัฒนาโดยมีองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ไฮดรอกซิอะพาไทต์-แคลเซียมคาร์บอเนต (OMYADENT 100 - OG) และมีฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ ส่วนผลิตภัณฑ์สูตรที่สอง คือ ยาสีฟันคูฬเดนท์ ทริปเปิ้ล เฮิร์บ (CUdent Triple Herb) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดสมุนไพร 3 ชนิดและมีองค์ประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต (OMYACARE S 80 - LR) ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ รวมทั้งมีประมาณฟลูออไรด์ 1,498 ppm เพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันฟันผุ
"ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากโดยใช้วัตถุดิบจากในประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศ และเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลต่อไป" ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าวในที่สุด
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย