นายสมคิด จันทมฤก อธิบดี พช. กล่าวว่า "จังหวัดสกลนคร ถือว่าเป็นเมืองแห่งครามและมีกลุ่มผ้าย้อมครามที่มีคุณภาพกระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในจังหวัดหลายร้อยล้านบาทต่อปี กลุ่มผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม ตั้งอยู่เลขที่ 58 หมู่ที่ 2 บ้านดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2546 โดยการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ร่วมกันพัฒนาการทอผ้าย้อมครามจากวัสดุธรรมชาติ มีการทอผ้าย้อมคราม ทุกหลังคาเรือน และมีองค์ความรู้เรื่องการปลูกคราม การย้อมคราม การย้อมสีธรรมชาติ รวมถึงมีการรวมกลุ่มทอผ้า หลายกลุ่ม ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สามารถเป็นแหล่งสร้างองค์รวมรู้เรื่องการทอผ้า ให้แก่ผู้ที่สนใจ ชุมชนใกล้เคียง และด้วยความเข้มแข็งและเหนียวแน่นของกลุ่ม ก่อนที่จะพัฒนาให้มีความสวยงาม มีการมัดหมี่เหมือนกับผ้าไหมและตัดเป็นชุด และทางกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP เมื่อปี 2549 และได้รับการคัดสรรเป็นสินค้า ระดับ 5 ดาว ของจังหวัดสกลนคร ข้อสำคัญของผ้าย้อมครามคือใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี สีไม่ตก ลวดลายสวยงาม การผลิตก็ใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ใบคราม ขี้เถ้า และเปลือกไม้ คนในชุมชนส่วนใหญ่ มีอาชีพและรายได้จากการทอผ้าคราม เป็นอาชีพเสริมหลังการทำนา โดยมีการสืบทอดการผลิตผ้าย้อมครามจากรุ่นสู่รุ่น จวบจนปัจจุบัน"
นายสมาน พั่วโพธิ์ พัฒนาการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า "จังหวัดสกลนครได้จัดทำโครงการสร้างศูนย์เรียนรู้ ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย "วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน" เพื่อพัฒนาสถานที่ผลิตผ้าย้อมครามบ้านดอนกอยให้มีศักยภาพ พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้าย้อมครามให้ชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้สนับสนุนงบประมาณให้จังหวัดสกลนคร ดำเนินการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย "วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน" งบประมาณ 6,253,000 บาท ดำเนินการก่อสร้างศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย ขนาด 15 X 40 เมตร จำนวน 1 หลัง และก่อสร้างห้องน้ำสาธารณะ ขนาด 5.70 X 8.00 เมตร จำนวน 1 แห่ง ณ ที่ราชพัสดุโรงเรียนบ้านดอนกอย หมู่ที่ 2 ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสกลนคร เขต 2 ได้อนุมัติให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนครใช้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564
อธิบดี พช. กล่าวเพิ่มเติมว่า "เนื่องจากกรมการพัฒนาชุมชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้า และการพัฒนายกระดับผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การให้ความรู้การทอผ้า การฟอก ย้อมสีธรรมชาติ การออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองตลาดผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมผลิตภัณฑ์ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ โดยศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย "วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน" แห่งนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาเรื่องผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัด เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการทอผ้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนกระทั่งปลายน้ำ ให้แก่ผู้สนใจ สามารถที่จะนำความรู้ไปประกอบเป็นอาชีพได้ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาดูงาน จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ทั้งนี้จะทำให้สามารถส่งเสริมผ้ามัดย้อมครามให้มีการพัฒนาคุณภาพ สร้างคุณค่าในผลิตภัณฑ์ ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่น มีมาตรฐานคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีการสืบสานและพัฒนาสร้างคุณค่าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่ดีในระดับชุมชน มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" อธิบดี พช. กล่าว
จากนั้นเวลา 11.00 น. เดินทางไปเยี่ยมชมนิทรรศการและกิจกรรมการดำเนินงานกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ วัดธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น ที่วัดธาตุประสิทธิ์ หมู่ 4 ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ได้มีราษฎร จำนวน 6 คน รอรับเสด็จทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีรับสั่งให้ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ รองราชเลขานุการ ได้ตั้งชื่อกลุ่มทอผ้าไหมอำเภอนาหว้า ชื่อ "กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" ซึ่งเป็นสถานที่ศูนย์จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP ของชาวอำเภอนาหว้า มีผ้าไหมผ้าลายยกมุก ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ผ้าขาวม้า เครื่องจักสาน กระติบข้าว ตะกร้า ผลิตภัณฑ์เครื่องดนตรี พิณ แคน โหวด ถือได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอนาหว้าอีกแห่งหนึ่ง
ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น