นายปภังกร มรม่วง หรือน้องเพลงหนึ่งในสมาชิกของทีมเล่าถึงที่มาของการออกแบบให้ฟังว่า"โจทย์ของการแข่งขันคือการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มาจากไม้ไผ่และต้องบอกเล่าเรื่องราว วัฒนธรรมพื้นบ้านเพื่อสื่อสารออกมาในแง่มุมที่แตกต่าง การออกแบบครั้งนี้พวกเราจึงได้แนวคิดมาจาก อุปกรณ์จับปลาที่เรียกว่า ไซ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อยู่คู่วิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน แต่เดิมนั้นบรรพบุรุษของเราก็ใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักในการสาน มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ พบได้ในทุกภูมิภาคของประเทศซึ่งอาจจะมีชื่อเรียกหรือรูปแบบแตกต่างกันไป แต่ลักษณะของการใช้งานและวัสดุที่ใช้มาจากไม้ไผ่เหมือนกัน ทีมของเราจึงได้ร่างรูปแบบของสถาปัตยนี้ขึ้นมาโดยผสมผสานทักษะและเทคนิคจากพื้นบ้าน พัฒนาให้เกิดเป็นศิลปะร่วมสมัยโดยผสมผสานวัฒนธรรมที่ดีของประเทศนำเสนอออกมาเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์และความงดงามไม่เหมือนใคร เป็นหนึ่งในการสื่อสารทางวัฒนธรรมของเราที่จะเผยแพร่ออกสู่นานาชาติ"
การประกวดออกแบบสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ จัดขึ้นโดย School of Architecture of South China University of Technology และ Guangzhou Nansha Bird Park ร่วมจัดกับหลากหลายหน่วยงานในประเทศจีนและต่างประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนนักศึกษาให้ได้มีประสบการณ์การออกแบบ และเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจำนวน 17 ทีม จากประเทศจีน เมืองกวางโจว เมืองปักกิ่ง ฮ่องกง มาเก๊า ประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผลงานของทั้ง 17 ทีมได้ถูกสร้างจริงและจัดแสดงอยู่ ณ Nansha Bird Park เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน