นายคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน เราจึงอยากส่งมอบกำลังใจผ่านผลงานศิลปะสร้างสรรค์โดยจินตนาการจากการอ่านของเยาวชน เพื่อให้ทุกคนได้ก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคด้วยพลังบวกที่น้องๆ ตั้งใจถ่ายทอดความรู้สึกให้กับผู้ที่ได้ชมผลงานไปด้วยกัน"
โดยผลงานของเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับต่างๆ ประกอบด้วย ประถมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ ผลงาน "นั่งเรือชมหิ่งห้อยเต้นระบำที่คลองอัมพวา" เด็กหญิงณัฐวรา เสนวิรัช สถาบันศิลปะ ห้องศิลปะ Studio Art มัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ ผลงาน "พระมหาชนก" นายสิรภพ รุยปริง โรงเรียนวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี มัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ ผลงาน "ชีวิต" นายธีรภัทร พรมชัย สถาบันศิลปะ The First Art อุดมศึกษา ได้แก่ ผลงาน "ประกอบใหม่" นายศิริโรจน์ โคตรวงษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เข้าประกวดสามารถติดตามผลการตัดสินทั้งหมดได้ที่ www.intouchstation.com
คณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสายทัศนศิลป์ ได้แก่ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2554 นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2557 นายสังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร สายวรรณศิลป์ ได้แก่ นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตไทย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พุทธศักราช 2536 และสายสื่อมวลชน ได้แก่ นายธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Fineart
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าว่า "ถือเป็นความก้าวหน้าของผลงานที่เด็กๆ ตั้งใจทำส่งเข้ามา 15 ปีสะท้อนให้เห็นว่าการประกวดที่มีทั้งวรรณกรรม และจิตรกรรมก้าวหน้าขึ้นมาก เด็กมีฝีมือ มีความสามารถแทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นระดับไหนซึ่งงานวรรณกรรมนั้นถือว่าเป็นอารยธรรมของภูมิปัญญาทางสังคม ส่วนจิตรกรรมนั้นเป็นเสน่ห์ของอารยธรรม เพราะฉะนั้นนี่น่าจะเป็นเวทีเดียวของการประกวดงานศิลปะที่ใช้วรรณกรรมกับจิตรกรรมมาผสานกัน มาบันดาลใจซึ่งกันและกันทำให้งานศิลปะเป็นพลังเงียบที่สามารถสร้างสรรค์ได้ทั้งสังคม และยกระดับจิตใจของตนเองช่วยให้เรามีความสุข และมีชีวิตที่มีความสุขด้วย"
นายปัญญา วิจินธนสาร คณะกรรมการสายทัศนศิลป์ กล่าวแสดงความเห็นว่า "ในปีนี้ความพิเศษที่โดดเด่นก็คือ จินตนาการที่เกิดขึ้นในมิติใหม่ของการประกวด งานหลายๆ ชิ้นสามารถที่จะตีความให้คนมองเห็นถึงเนื้อหาสาระในภาพเขียนนั้น สะท้อนถึงปัจจุบัน อนาคต หรือพูดถึงอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร คนดูสามารถจินตนาการต่อได้จากรูปเขียนของน้องๆ ที่เป็นศิลปิน ผมถือว่าอันนี้สุดยอด หรือที่สุดของการทำงานศิลปะ เนื่องจากงานศิลปะ ไม่จำเป็นจะต้องสื่อสาร หรืออธิบายเนื้อหาสาระที่เราเขียนนั้นให้คนเข้าใจตามเนื้อหาทั้งหมด แต่ศิลปินควรจะสร้างสรรค์จินตนาการให้คนดูสามารถตีความได้กว้างไกลออกไป และมีมุมมอง มีวิธีคิดใหม่ หรือแตกต่างออกไป ตรงนี้ผมถือว่าเป็นสาระสำคัญของการทำงานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน"
และเพื่อเป็นการขอบพระคุณในความเมตตา และร่วมรำลึกถึงผลงานอันทรงคุณค่าของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ (ทมยันตี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช 2555 ทางโครงการจึงได้มีรางวัลพิเศษ "ภาพวรรณกรรมในดวงใจ" ซึ่งได้ตัดสินให้ผลงาน "ความฝันอันยิ่งใหญ่" เด็กหญิงปานิดา พลศรีดา โรงเรียนสมคิดจิตต์วิทยา เป็นผู้ได้รับรางวัลพิเศษนี้และได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้สนใจงานศิลปะ และประชาชนทั่วไปสามารถชมและร่วมสนับสนุนผลงานเยาวชนที่ได้รับรางวัลที่ www.intouchstation.com หรือ www.facebook.com/intouchstation รายได้จากการจำหน่ายทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โครงการบัณฑิตคืนถิ่น เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ถือเป็นการให้โอกาสทางการศึกษากับเยาวชนเพื่อเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม
ที่มา: อินทัช โฮลดิ้งส์