กองทุนบัวหลวงแนะนักลงทุนจับตา 5 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจปี 2565

ศุกร์ ๒๔ ธันวาคม ๒๐๒๑ ๑๖:๔๙
ดร. (น.ส.) มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า ในปี 2565 นี้ ความไม่แน่นอนและความไม่สมดุลในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการประมาณการเศรษฐกิจ เหมือนช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมา ที่จะพบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่ออกมากับตัวเลขประมาณการของสำนักต่างๆ แตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง โดยในปี 2565 มีความเป็นไปได้สูงที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องปรับตัวเลขประมาณการกันตลอดปี

ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวงมองว่า มีปัจจัยเศรษฐกิจสำคัญ 5 ประการที่นักลงทุนต้องจับตา ได้แก่ 1. การระบาดของโควิดที่ยังคงอยู่กับโลกนี้ต่อไป 2. รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3. เงินเฟ้อที่พุ่งสูง 4. การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่แตกต่างกันไป และ 5. ทิศทางของจีน

สำหรับปัจจัยที่ 1 การระบาดของโควิดที่ยังคงอยู่กับโลกนี้ต่อไป จึงยังเป็นต้นตอหลักของความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายระยะข้างหน้า นับเป็นงานท้าทายของภาครัฐที่ต้องออกมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหาจากโควิด-19 อย่างทันท่วงที ถูกที่ถูกเวลา รวมถึงใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะสถานะการคลังของแต่ละประเทศเริ่มตึงตัวแล้ว

ปัจจัยที่ 2 รัฐบาลประเทศต่างๆ เริ่มชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพบว่า นโยบายภาครัฐที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ จะมีส่วนสำคัญมากต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่มองไปข้างหน้ารัฐบาลแต่ละประเทศจะเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากต้องรักษาวินัยการคลังไว้ ซึ่งมาตรการรัดเข็มขัดนี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า

ส่วนปัจจัยที่ 3 เงินเฟ้อที่พุ่งสูง นับเป็นรอยแผลลึกต่อเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเงินเฟ้อมาจากทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ในด้านอุปสงค์ คือ การให้เงินช่วยเหลือของภาครัฐแก่ประชาชนท่ามกลางตัวเลือกการใช้จ่ายที่จำกัดจากการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งภาคบริการต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์และที่พักอาศัย เพิ่มขึ้นรวดเร็ว

แม้อัตราเงินเฟ้อที่มาจากความต้องการซื้อสินค้าจะไม่น่ากังวลนัก เนื่องจากมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย แต่เงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานกลับแตกต่างไป เนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยภาวะขาดแคลนแรงงานและวัตถุดิบการผลิต รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทางเลือกซึ่งหนุนให้ราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ปัจจัยที่ 4 การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่แตกต่างกันไป โดยจะแบ่งแนวทางการใช้นโยบายการเงินเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ธนาคารกลางที่เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว อาทิ ธนาคารกลางออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และนอรเวย์ ซึ่งแม้จะปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็สะท้อนดอกเบี้ยในทิศทางขาขึ้นอย่างชัดเจน กลุ่มที่ 2 ธนาคารกลางที่ระมัดระวังและอดทนในการพิจารณาถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย นำโดยธนาคารกลายุโรป กลุ่มที่ 3 ธนาคารกลางที่มีความจำเป็นในการลดการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลง ซึ่งกลุ่มนี้น่าสนใจที่สุด นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

แนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางที่แตกต่างกัน เกิดขึ้นในเวลาที่เศรษฐกิจโลกต้องการที่พึ่งท่ามกลางความแตกต่างของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแต่ละประเทศที่เริ่มจะสวนทางกัน อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่สมดุล และทำให้โลกเข้าใกล้กับสถานการณ์ที่เป็นอันตราย หรือ Dangerous Dispersion โดยที่ กีตา โกพินาท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในการประชุมประจำปีครั้งล่าสุด

ปัจจัยที่ 5 ทิศทางของจีน ซึ่งในปี 2564 เศรษฐกิจจีนเผชิญเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงหลายครั้ง ที่ไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ แต่เป็นผลจากรัฐบาลจีนประกาศนโยบายและเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการพัฒนาและยกระดับประเทศไปอีกขั้น เมื่อมังกรขยับตัว ทั้งโลกก็สั่นไหว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบ ขณะที่ความสัมพันธ์ที่เปราะบางของสหรัฐฯ ไต้หวัน และจีน ปัจจุบันยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ในปี 2565 นี้เรายังต้องจับตาดูว่า มังกรตัวนี้จะแผลงฤทธิ์อะไรอีกบ้าง

ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวง จัดทำรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2565 ฉบับเต็มไว้ โดยนักลงทุนสามารถเข้าไปติดตามเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กองทุนบัวหลวง หัวข้อ มุมมองการลงทุน > BF Economic Insights

ที่มา: บลจ.บัวหลวง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ