ก่อนหน้านี้ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ได้มีมติอนุมัติในหลักการการเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัท เพื่อประกอบธุรกิจร่วมกัน 2 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจให้บริการงานติดตามหนี้ (Debt Collection Business) และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Asset Management Business) ในสัดส่วนการถือหุ้น 2 บริษัท JMT ถือหุ้นน้อยกว่า 50% และบริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นมากกว่า 50%
ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าว อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับแนวนโยบายการหารือและการได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานอื่น รวมถึงการเจรจาและเข้าทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทลูกของธนาคารกสิกรไทยในภายหลัง โดย JMT คาดว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนทั้ง 2 บริษัทแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/2565
"เรามีความพร้อมอย่างมากในด้าน ระบบ ทรัพยากรมนุษย์ และเงินทุน สำหรับธุรกิจให้บริการงานติดตามหนี้ และการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เรายินดีที่ธนาคารกสิกรไทยมองเห็นถึงศักยภาพของ JMT ในด้านนี้ ปัจจุบันเรานำเอาเทคโนโลยีและเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Big Data และการนำเรื่อง Machine Learning เข้ามาใช้ในระบบบริหารติดตามหนี้ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ ทำให้ประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ของเราเพิ่มขึ้นมาก ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม" นายปิยะ พงษอัชฌา ประธานคณะกรรมการบริหาร JMT กล่าว
"JMT เป็นบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีของธนาคาร มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการและติดตามหนี้มายาวนาน และธุรกิจมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของธนาคารในการติดตามหนี้และการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ" คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
โดยการจัดตั้งความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากเพื่อการบริหารจัดการที่ดีแล้ว ยังมีเป้าหมายที่ต้องการช่วยคืนกลับให้ลูกค้าที่มีเครดิตโปรไฟล์ที่ดีเพื่อสามารถขอสินเชื่อสู่ในระบบต่อไปในอนาคตได้ และสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินในท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 65 เชื่อว่าหนี้เสียยังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ภาพรวมหนี้เสียคงค้างที่ 5.4 แสนล้านบาท
ที่มา: ไออาร์ พลัส