PHBS Think Tank มองว่า แรงกดดันต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงของจีนยังคงสูงในไตรมาส 4 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการบริโภคที่เบาบาง รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และแรงกดดันที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงขึ้น และการที่ราคาวัตถุดิบต้นน้ำบางส่วนยังอยู่ในระดับสูง ก็ทำให้ราคาสินค้าระดับกลางและสินค้าปลายน้ำปรับตัวขึ้นตามแล้ว
รายงานของ PHBS Think Tank ระบุว่า แรงกดดัน 3 ประการจากการหดตัวของอุปสงค์ วิกฤตอุปทาน และความคาดหวังที่ลดลง ทำให้คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ GDP ประจำปีของจีนจะอยู่ที่ระดับ 5.0% ในปี 2565 และคาดว่า การชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์และการบริโภคจะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างจีน นอกจากนี้ Think Tank ได้ประมาณการตามต้นแบบ DSGE พบว่า การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง 10% จะทำให้การเติบโตของ GDP ลดลง 2.1% ก่อให้เกิดการสูญเสียงาน 6.85 ล้านตำแหน่งในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ กำลังจำกัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายงาน PHBS Think Tank จึงคาดการณ์ว่า ปัจจัยบางประการที่สนับสนุนการส่งออกของจีนจะอ่อนแรงลงในปี 2565 ขณะเดียวกัน รายงานฉบับนี้ยังประกอบด้วยผลการคาดการณ์ที่ระบุว่า การบริโภค การลงทุน และการส่งออกสุทธิที่ส่งผลต่อ GDP ของจีนจะอยู่ที่ระดับ 1.9%, 1.7% และ 1.4% ตามลำดับ
นอกจากนี้ PHBS Think Tank ยังชี้ให้เห็นว่าจะต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกให้มากขึ้นในปี 2565 โดยแนะนำว่า รัฐบาลควรเสริมสร้างนโยบายการคลังเพื่อเพิ่มการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และรับประกันซัพพลายวัตถุดิบต้นน้ำ ขณะเดียวกัน รายงานสรุปว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนการกู้ยืมและการจัดหาเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เผชิญกับภาวะฮาร์ดแลนดิง