นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานและกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาทักษะทางอาชีพและส่งเสริมการมีงานทำ และให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยเฉพาะในวัยกำลังแรงงานที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งสองหน่วยงานจึงขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวโดยใช้แนวทางประชารัฐในการสร้างความร่วมมือ
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลงนามในวันนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big Data) ด้านอุปสงค์อุปทานของตลาดแรงงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาพัฒนาทักษะทางอาชีพและการมีงานทำ จัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่บุคลากรและครูผู้สอนเพื่อนำความรู้ไปขยายผลให้แก่นักเรียน นักศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และแรงงานทุกระดับ พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมฝีมือแรงงานไปสู่การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและการประเมินความรู้ความสามารถ ร่วมกันจัดการแข่งทักษะฝีมือระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติ เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีงานทำ การคุ้มครองแรงงาน และด้านประกันสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562-2564 ที่ผ่านมากรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้นักศึกษาอาชีวะปีสุดท้ายในหลักสูตร เช่น ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเชื่อม พนักงานการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น มีผู้ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบฯ ทั้งสิ้น 23,891 คน รวมทั้งส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 114 แห่ง และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถอีก 16 แห่ง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ โดยมี
ผู้ผ่านการฝึกอบรม 1,178 คน ความร่วมมือในครั้งนี้จะมีส่วนสนับสนุนให้ภารกิจที่จะดำเนินการในปี 2565 และปีต่อๆ ไป บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้อย่างแท้จริง
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการศึกษาของชาติเพื่อการพัฒนาคุณภาพของประชาชน ได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมาย คือ มีผู้เรียนเป็นเป้าหมายแห่งการพัฒนา โดยให้ผู้เรียนมีวิธีคิดและทักษะที่เป็นสากลสอดคล้องกับพลวัตในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับสำนึกและความเข้าใจในความเป็นไทย ผ่านการมีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงการเรียนรู้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพในทุกมิติ ให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัย การศึกษา เพื่ออาชีพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ผู้จบการศึกษา ระดับปริญญาและอาชีวศึกษามีอาชีพ และรายได้ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้
"เป็นความมุ่งมั่น ของรัฐบาล ภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยให้ความสำคัญต่อเด็กนักเรียนอาชีวะ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะทางอาชีพ ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งจะนำไปสู่การมีอาชีพ และรายได้ที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตที่ดี" นางสาวตรีนุช กล่าว
นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ การพัฒนาการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ (Big Data) ยังเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานนโยบายที่เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ที่จะบูรณาการภารกิจการทำงานร่วมกัน
ที่มา: กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน