นางสาวมินตรา มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT เปิดเผยว่า ล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญางานขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) สำหรับภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTT Oil and Retail Business Public Company Limited: PTTOR) ซึ่งเป็นงานขนส่ง LNG จาก PTT LNG Terminal ไปยัง ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับเป็นอีกหนึ่งก้าวของความสำเร็จ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากการขนส่ง LNG รวมทั้งมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพการบริการควบคู่กับความปลอดภัยในการขนส่ง เพื่อปิดความเสี่ยงทางธุรกิจต่าง ๆ ให้กับคู่ค้าของ KIAT โดยจะเริ่มการขนส่งดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งจะนับเป็นฟลีทขนส่ง LNG ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนี้
"ประเทศไทยได้มีการนำเข้า LNG มาใช้ตั้งแต่ปี 2554 โดยข้อมูลจาก PTT Trading พบว่าปัจจุบันมีปริมาณการนำเข้า LNG ถึงประมาณ 6 ล้านตันต่อปี และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการขนส่งต้องมีการบริหารจัดการขนส่งที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล นอกเหนือจากประสบการณ์ในการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษมากว่า 20 ปีแล้ว เกียรติธนาขนส่ง ยังมีความพร้อม ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการขนส่ง LNG มากว่า 5 ปี จากการเซ็นสัญญาร่วมกับ PTTOR ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยสูงสุด ต้องใช้รถขนส่งที่ออกแบบและสร้างตามมาตรฐานสากล ผ่านการตรวจสอบจากกรมธุรกิจพลังงานและกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งใช้พนักงานขับรถบรรทุกขนส่งที่มีใบอนุญาตขับขี่ประเภทที่ 4 และการอบรมด้านความปลอดภัยเฉพาะทาง ทำให้เกียรติธนาขนส่งได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการขนส่ง LNG แล้วเรายังมีงานขนส่งน้ำมันดิบและน้ำมันเตาให้กับบริษัทในเครือปตท.อีกเช่นกัน" นางสาวมินตรา กล่าว
อนึ่ง ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG นับเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้รับความนิยมในการใช้งานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนำไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน เช่น ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ ซึ่งตลาดโลกต่างให้การยอมรับว่า LNG จะเป็นอีกทางเลือกใหม่ของพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งของประเทศ สำหรับในประเทศไทยสัดส่วนการใช้งานจากกระทรวงพลังงานล่าสุด ก๊าซธรรมชาติถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด กว่า 57% และรองลงมาคือนำไปแยกส่วนประกอบเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของปิโตรเคมี 23% นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง (NGV) 17% และ 3% ตามลำดับ
ที่มา: แอบโซลูท พีอาร์