จากรายงานภูมิทัศน์สื่อไทยปีล่าสุด พบว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นสื่อที่ถูกนำมาใช้งาน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและพูดคุยจากทั้งสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากโซเชียลมีเดียสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ค้นหาข้อมูล
ขณะที่โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มได้พัฒนาและเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เปิดตัว Twitter Space เพื่อนำเสนอพื้นที่อิสระในการพูดคุยในหัวข้อเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือยูทูบ (YouTube) ที่เปิดตัวฟีเจอร์ Shorts ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชอบคอนเทนต์สร้างสรรค์ ไอเดียสดใหม่ และสั้นกระชับ ขณะที่ติ๊กต็อก (TikTok) ก็ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย
ส่วนสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์นั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เว็บไซต์ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสื่อหลักที่ทั้งสื่อมวลชน สำนักข่าว และแบรนด์ต่าง ๆ ใช้งาน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการ ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ยังคงมีบทบาทอย่างมากในการทำการตลาดดิจิทัลของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่อินฟลูเอนเซอร์ทั้งระดับ KOL (Key Opinion Leader) หรือ KOC (Key Opinion Customer) ที่มีผู้บริโภคติดตามในวงกว้างสามารถสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม จึงทำให้อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความนิยมมาโดยตลอด
นอกจากนี้ รายงาน "ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564-2565" ยังได้นำเสนอมุมมองและการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้ม สถานการณ์ ความเคลื่อนไหวของสื่อและพีอาร์จากนักวิชาการ ผู้บริหารพีอาร์เอเจนซี่ และสื่อมวลชนที่จะมาสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานและอนาคตของสื่อต่าง ๆ หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเมกะเทรนด์อย่าง Metaverse เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น
ผู้สนใจสามารถอ่านและติดตามข้อมูลภูมิทัศน์และสถานการณ์สื่อไทยในรายงานภูมิทัศน์สื่อไทย ปี 2564-2565 ซึ่งจัดทำโดย บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ได้ที่เว็บไซต์ https://www.infoquest.co.th/thailand-media-landscape-2022
ที่มา: อินโฟเควสท์