นางสาววรชนาธิป กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการตามมาตรฐานอาชีพ รวมทั้งการต่อยอดทักษะการทำงานของคนในอาชีพ ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก อาทิ คนที่อยู่ในสาขาการจัดการการท่องเที่ยวในท้องถิ่น อย่างอาชีพนักเล่าเรื่องท้องถิ่น ผู้ประกอบอาหารท้องถิ่น และผู้ประกอบการที่พักท้องถิ่น ให้มีการบริการตามมาตรฐานอาชีพ จะเป็นการช่วยยกระดับชุมชนให้มีคุณภาพ สร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ สคช. พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการที่พักและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเบตง นำมาตรฐาน Wellness Travel Professional ซึ่ง สคช. มีความร่วมมือกับ Global Healthcare Accreditation (GHA) จากสหรัฐอเมริกา มาปรับใช้ เพื่อรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น การให้บริการนวด สปา ผู้ประกอบการร้านอาหาร ให้มีการให้บริการอย่างมีมาตรฐาน ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนท้องถิ่น ยกระดับศักยภาพกำลังคน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวว่าจะได้รับการบริการด้วยความปลอดภัย
รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวด้วยว่า โครงการเบตง 10,000 ล้าน ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในอีกไม่นานนี้ ได้รับความร่วมมือจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยว ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการให้ความรู้ การพัฒนาด้านอาชีพต่าง ๆ รวมทั้งสถาบันทางการเงิน ที่พร้อมจะสนับสนุนโครงการนี้ให้เดินหน้าไปสู่จุดหมาย ภายใน 5 ปี หลังจากนี้ เชื่อว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ จะสามารถสร้างเม็ดเงินอย่างมหาศาล ลงมาสู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนใน อ.เบตง ธารโต บันนังสตา จ.ยะลา พร้อมเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ใกล้เคียงสู่ชายแดนภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเสริมสร้างความมั่นคงในทุกมิติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง สร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป
ที่มา: สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ