6 เทรนด์สำคัญกำหนดอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2565

จันทร์ ๓๑ มกราคม ๒๐๒๒ ๑๔:๐๕
ในช่วงต้นปี 2563 โลกของเราต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบศตวรรษ  อย่างไรก็ตาม รายงาน Global Connectedness Index ประจำปี 2565 ของดีเอชแอลเผยว่า "ธุรกิจค้าขายสินค้าเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวได้ท่ามกลางปัญหาท้าทายที่เกี่ยวกับกำลังการผลิต และสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้า"
6 เทรนด์สำคัญกำหนดอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2565

ขณะที่อีคอมเมิร์ซทั่วโลกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และลูกค้ามีความคาดหวังเพิ่มสูงขึ้นเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วกว่าในราคาที่ต่ำ มีนวัตกรรมใหม่อะไรบ้างเกี่ยวกับลอจิสติกส์ และการจัดส่งที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว และต่อไปนี้คือ 6 เทรนด์สำคัญที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2565

เทรนด์ที่ 1: ซัพพลายเชนที่มีความคล่องตัวสูง และโซลูชั่นลอจิสติกส์ 5PL สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลให้ซัพพลายเชนทั่วโลกหยุดชะงัก และประสบปัญหาอย่างมากในการฟื้นฟูธุรกิจ  การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แรงงาน และวัตถุดิบ รวมถึงการตรวจตราชายแดนที่เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น และภาวะเงินเฟ้อ ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นอุปสรรคที่ทำให้การค้าทั่วโลกหยุดชะงัก ดังจะเห็นได้จากปัญหาการจัดส่งที่ล่าช้าและมีสินค้าจำนวนมากที่ตกค้างอยู่ตามท่าเรือและจุดขนถ่ายสินค้าทั่วโลก และคาดว่าปัญหาเหล่านี้จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2565

ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจจึงต้องการระบบซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวสูง สามารถปรับเปลี่ยนตามสภาวะตลาดในแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะแท้จริงแล้วลูกค้าไม่ได้สนใจเกี่ยวกับปัญหาซัพพลายเชนในวงกว้าง เพียงแต่ต้องการให้สินค้าที่สั่งซื้อไปส่งมาถึงตามกำหนดเวลา และถ้าแบรนด์ใดไม่สามารถทำตามได้ ลูกค้าก็มีแนวโน้มที่จะไม่กลับไปซื้ออีก

ตรงจุดนี้เองที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซควรจะเอาต์ซอร์สงานลอจิสติกส์ให้แก่พาร์ทเนอร์ผู้ให้บริการลอจิสติกส์บุคคลที่ห้า หรือ Fifth-Party Logistics (5PL) เช่น ดีเอชแอล เพราะทุกวันนี้ระบบซัพพลายเชนมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นโมเดล 5PL จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ 5PL ทำหน้าที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้านลอจิสติกส์ของลูกค้า โดยขั้นแรกจะระบุความต้องการของลูกค้า จากนั้นก็วางแผน ดำเนินการ และจัดการโซลูชั่นลอจิสติกส์ทั้งหมด พาร์ทเนอร์ 5PL มีขนาดธุรกิจและประสบการณ์ในการจัดหาและจัดการซัพพลายเออร์อื่นๆ ครอบคลุมทุกส่วนของซัพพลายเชน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อปรับปรุงทุกช่องทางการติดต่ออย่างเหมาะสม กล่าวโดยสรุปก็คือ 5PL คือโซลูชั่นแบบครบวงจรที่ตอบทุกโจทย์ความต้องการด้านลอจิสติกส์ และช่วยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นตามกำหนดเวลา ในปี 2565 ขณะที่ซัพพลายเชนยังคงประสบปัญหาการหยุดชะงักอย่างต่อเนื่อง ผู้ให้บริการ 5PL จะมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เทรนด์ที่ 2: ลอจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)

บางครั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซอาจไม่สามารถคาดเดาได้  กระแสความนิยมใหม่ๆ ของผู้บริโภคอาจทำให้สินค้าบางอย่างขายดีจนหมดเกลี้ยง และทำให้ธุรกิจมีออเดอร์ล้นมือ ตรงจุดนี้เองลอจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นจะมีประโยชน์อย่างมาก กล่าวคือ บริการลอจิสติกส์ที่มีความยืดหยุ่นสูงจะสามารถขยาย หรือปรับลดขนาดให้สอดคล้องกับความต้องการภายในซัพพลายเชน

ลอจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นเกิดขึ้นได้โดยอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลัน และสามารถระบุได้ว่าจะต้องปรับเพิ่มขยายหรือลดขนาดตรงจุดใดของซัพพลายเชนเพื่อรับมือกับสถานการณ์  สำหรับการดำเนินงานภายในคลังสินค้า เทคโนโลยี AI จะรองรับกระบวนการอัตโนมัติ ทั้งในส่วนของการรับสินค้า การแพ็คสินค้า และการจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาดำเนินการ ทำให้จัดส่งสินค้าได้เร็วขึ้น และช่วยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซสามารถนำเอาสินค้าออกจากรายการที่นำเสนอแก่ลูกค้าในกรณีที่มีสินค้าเหลืออยู่ในสต็อกไม่เพียงพอ เทคโนโลยี AI มีศักยภาพในการเพิ่มผลกำไรโดยเฉลี่ย 38 เปอร์เซ็นต์ และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 14 ล้านล้านดอลลาร์ใน 16 กลุ่มอุตสาหกรรมใน 12 ประเทศภายในปี 2578  สำหรับธุรกิจขนส่งและจัดเก็บสินค้า AI จะช่วยเพิ่มผลกำไรได้ประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์[1]

ที่สำคัญคือ ลอจิสติกส์ที่ยืดหยุ่นจะช่วยให้องค์กรธุรกิจตัดสินใจโดยคำนึงถึงซัพพลายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และลดการสิ้นเปลืองในทุกขั้นตอนของกระบวนการ และเมื่อภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีขีดความสามารถด้านการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โมเดลลอจิสติกส์นี้ก็จะถูกนำไปใช้กับธุรกิจต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

เทรนด์ที่ 3: ยานพาหนะไร้คนขับ

ปัญหาการขาดแคลนคนขับรถทวีความรุนแรงจนทำสถิติสูงสุดทั่วโลก และสถานการณ์นี้จะรุนแรงขึ้นในปี 2565  สมาคมรถบรรทุกของสหรัฐฯ ประเมินว่าในปี 2565 จะมีปัญหาขาดแคลนคนขับรถราว 90,000 คนในสหรัฐฯ[2] ขณะที่ในยุโรป สถานการณ์ก็ไม่ต่างกัน โดย Transport Intelligence คาดการณ์ว่าในปัจจุบันยุโรปประสบปัญหาขาดแคลนคนขับรถราว 400,000 คน[3]

อย่างไรก็ดี ตอนนี้มีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจยานพาหนะไร้คนขับให้เติบโต โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 การลงทุนในบริษัทรถบรรทุกไร้คนขับมีมูลค่าสูงถึง 5.6 พันล้านดอลลาร์[4] และคาดว่าจะมีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับภาคธุรกิจนี้ในปี 2565

เทรนด์ที่ 4: อีคอมเมิร์ซที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมาก และทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีการคาดการณ์ว่าอีคอมเมิร์ซจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในปี 2565 โดยคาดว่ายอดขายอีคอมเมิร์ซจะแตะระดับ 5.4 ล้านล้านดอลลาร์[5] ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศคาดว่าจะมีมูลค่า 1,508.7 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 เพิ่มขึ้นจากระดับ 532.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 15.5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2570[6] ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการขยายกิจการ และเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าแก่ผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการซัพพลายเชนที่ซับซ้อน รายงานผลการศึกษาของดีเอชแอลคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจ B2B อีคอมเมิร์ซว่าภายในปี 2568 ราว 80% ของการซื้อขายแบบ B2B จะดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัล และกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลจะกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทั่วโลก โดยครองสัดส่วนมากถึง 73% ของผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อขายแบบ B2B อีคอมเมิร์ซ

เทรนด์ที่ 5: หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ภายในคลังสินค้า การใช้โซลูชั่นหุ่นยนต์อัตโนมัติจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจ ตลาดหุ่นยนต์ช่วยงานคลังสินค้าอัตโนมัติทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตเกือบสองเท่าภายในปี 2568 จนแตะระดับ 27.2 พันล้านดอลลาร์[7] และในซัพพลายเชนอีคอมเมิร์ซซึ่งความเร็วถือเป็นเรื่องสำคัญ อาจใช้ระบบจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าแบบอัตโนมัติภายในคลังสินค้าเพื่อค้นหา หยิบจับ และเคลื่อนย้ายสินค้าคงคลังไปตามจุดต่างๆ อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้ตามกำหนดเวลา ตลาดหุ่นยนต์ลอจิสติกส์ทั่วโลกมีมูลค่า 11.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 และคาดว่าจะแตะระดับ 49.4 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570[8]

ท่ามกลางการเติบโตของอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรสได้เปิดตัว DHLBot ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่ช่วยจัดเรียงพัสดุอัตโนมัติในประเทศสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ช่วยให้ฮับและเกตเวย์สามารถจัดการพัสดุที่มีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยรวมอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์[9]

เทรนด์ที่ 6: ความยั่งยืน

นี่คือคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับการคาดการณ์เทรนด์ด้านลอจิสติกส์และการจัดส่งสินค้าในปี 2564 และคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในปี 2565 ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ผู้บริโภคมีความคาดหวังมากขึ้นว่าแบรนด์ต่างๆ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ไปจนถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และองค์กรธุรกิจก็เริ่มตระหนักถึงประโยชน์ทางการเงินที่ได้รับจากการลดการสิ้นเปลืองในส่วนต่างๆ ของซัพพลายเชน

หนึ่งในตัวการสำคัญที่สุดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในซัพพลายเชนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็คือ การขนส่งสินค้า โดยข้อมูลจาก Boston Consulting Group ระบุว่า กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 17% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก[10]  เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงมีการปรับใช้ยานพาหนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลายมากขึ้น  ธนาคารเพื่อการลงทุน UBS ประเมินว่าภายในปี 2568 ราว 20% ของรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายทั่วโลกจะเป็นรถไฟฟ้า[11]

สำหรับปีนี้ บริษัทขนาดใหญ่มุ่งเน้นเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน และการทำให้ซัพพลายเชนทั้งหมดมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายค่าบริการเพิ่มสำหรับการจัดส่งสินค้าด้วยวิธีที่ยั่งยืนกว่า การให้ความสำคัญกับกระแสบริโภคนิยมสีเขียว (Green Consumerism) สะท้อนได้ว่าแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะครองตลาดในหลายปีนับจากนี้

ดีเอชแอลตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าราว 60% ของการให้บริการแบบลาสไมล์ โดยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 80,000 คันวิ่งตามท้องถนนภายในปี 2573 ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายของกลุ่มบริษัทที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจลอจิสติกส์ทั้งหมดให้เหลือศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2593 นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทฯ ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้านการบินด้วยการสั่งซื้อเครื่องบิน Alice eCargo ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด จำนวน 12 ลำ จากผู้ผลิตเครื่องบิน Eviation[12]

[1] Accenture ,2017

[2] GoRamp, November, 2021

[3] GoRamp, November, 2021

[4] GoRamp, November, 2021

[5] Statista, July 2021

[6] Bloomberg, Jan 2022

[7]  PRNewsWire, June 2020

[8]  Logistics robots market 2022-2027, Jan 2022

[9]  DHL, Sep 2021

[10] Boston Consulting Group, July 2020

[11] BBC News, June 2021

[12] Eviation

ที่มา: พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง

6 เทรนด์สำคัญกำหนดอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 2565

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ