จากการลงพื้นที่ดังกล่าว พบว่า มีผลการดำเนินงานที่คืบหน้าเป็นที่พึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และมีผลผลิต เช่น ข้าว ผลไม้ พืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ปลา กุ้ง หอย ปูนา หนูนา ออกจำหน่ายสร้างรายได้ ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนอีกด้วย ตลอดจนเกิดแบ่งปันให้กับคนในชุมชนได้นายคำตัน วิไลย์ เจ้าของแปลง ได้กล่าวให้ข้อมูลว่า ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคภายในครัวเรือน มีคลังอาหารที่สมบูรณ์ในพื้นที่ และเมื่อเหลือจากการแบ่งปันนั้น สามารถสร้างรายได้ 1,000-2,000 บาทต่อสัปดาห์ ถือเป็นการสร้างรายได้ และลดรายจ่ายให้กับครัวเรือน นอกจากนั้น แปลงของตนยังเป็นต้นแบบให้กับครัวเรือนและผู้คนที่สนใจในด้านการเกษตรผสมผสาน หลักทฤษฎีใหม่ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกิดจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง ตลอดจนไปถึงการสร้างเครือข่ายในชุมชน และยังได้สนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) สามารถสร้างความสามัคคีในชุมชน เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ตนเอง และสร้างองค์ความรู้สร้างเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นด้วย
นายคำตัน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า "มีความสุขและความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในการเป็นส่วนหนึ่งที่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการฯ และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะผลผลิตที่สามารถบริโภคและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนในปัจจุบัน อนาคตต่อไปจะมุ่งดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักกสิกรรมธรรมชาติ ที่ว่า "พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น" หรือเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ที่ตนได้รับการฝึกอบรมมา ขอขอบคุณหน่วยงาน กรมการพัฒนาชุมชน ที่ให้การสนับสนุนจนสามารถนำพาความความมั่นคงทางอาหารและความอุดมสมบูรณ์มาให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19"
นายสรสาสน์ สีเพ็ง กล่าวว่าโครงการฯ ดังกล่าวเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ในรูปแบบ "โคก หนอง นา" ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีความตั้งใจเพื่อมีส่วนในการสืบสานสิ่งที่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้มอบไว้ให้พี่น้องประชาชนชาวไทย วันนี้ครัวเรือนที่มาเยี่ยมชม มีผลสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาครัวเรือนอื่นๆ ในชุมชน นอกจากเรื่องของการลดรายจ่ายแล้ว ยังมีโอกาสแบ่งปันอาหารไปยังครัวเรือนข้างเคียง มีเหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แม้จะตกอยู่ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครัวเรือนใกล้เคียงก็จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข เนื่องด้วยความมั่นคงทางอาหารที่มีอยู่ ขอให้ครัวเรือนตั้งใจขับเคลื่อนการดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบพร้อมทั้งขยายผลไปยังครัวเรือนในหมู่บ้าน ตลอดจนตำบลข้างเคียง"
โอกาสนี้ ผู้ตรวจราชการกรมได้ให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา" เพื่อให้การดำเนินงานในครั้งนี้ ดำเนินการได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพในการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ อีกทั้งกำชับแต่ละพื้นที่ให้ปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา" ด้วยความถูกต้อง
ที่มา: อิมเมจ โซลูชั่น