นางสาวชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กว่าระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ถึงแม้ทุกวันนี้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นคนไทยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และมีความเข้าใจในการป้องกันตนเองที่เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่านี้คือปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ให้ได้ จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งถือว่าเป็นผลสำรวจชิ้นแรกของปีนี้ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ระแวดระวังเรื่องการใช้จ่ายมาก ทำให้ภาพรวมการใช้จ่ายลดลง 4% เมื่อเทียบเท่ากับช่วงปลายปีที่ผ่านมา ในผลสำรวจครั้งนี้นักช้อปผู้ชายมีกำลังจับจ่ายคงที่ ยังคงเน้นการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนนักช้อปผู้หญิงที่การใช้จ่ายที่ลดลง ผลพวงจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นต้นปีในสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาน้ำมัน ผนวกกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมาหลายแบรนด์กระตุ้นและดึงดูดด้วยโปรโมชั่นที่ลดสนั่น โดยเฉพาะสินค้าด้านความงามครองอันดับยอดขายสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับช่วงฤดูกาลที่ต้องดูแลสุขภาพผิวมากขึ้นเป็นพิเศษ ในขณะที่ความสุขของคนไทยยังคงที่ แต่โดยรวมแล้วคนไทยให้ความสำคัญเรื่องครอบครัวและสุขภาพอนามัย เพราะการมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงนั้นจะช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19
ผลสำรวจและคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565 หากจำแนกเป็นช่วงอายุพบว่า อายุ 40-59 ปี มีแนวโน้มและความต้องการในการใช้จ่ายสูงขึ้น เน้นเรื่องความสุขของทุกคนในครอบครัว อีกทั้งยังเป็นช่วงเดือนแห่งความรัก ที่อยากจะมอบสิ่งของพิเศษให้กับคนรัก และหาเวลาในการผ่อนคลายความเครียดด้วยการท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะที่น่าจับตามองถึงความต้องการในการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 : คนไทยหันมาใช้จ่ายเพื่อผ่อนคลายและสร้างสุขภาพให้คนในครอบครัว สืบเนื่องจากความตึงเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 อันยาวนาน เป็นโอกาสที่เหล่านักการตลาดเกิดการชักชวนผู้บริโภค ให้นึกถึงการดูแลตัวเองและครอบครัว รวมถึงการส่งต่อความรักในเดือนแห่งความรัก เพื่อเป็นการทดแทนการใช้จ่าย ลดการฟุ่มเฟือยและไตร่ตรองในการจับจ่ายเพิ่มขึ้น นอกนี้เรื่องสุขภาพนั้นก็สำคัญที่เราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อต่อต้านโรคที่อยู่รอบตัว การดูแลสุขภาพผิวกายในฤดูหนาวที่ต้องดูแลเป็นพิเศษไม่ว่าผู้หญิงและผู้ชาย และที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพจิตใจที่ต้องปรับสภาพไปตามบรรยากาศรอบตัว
ประเด็นที่ 2 : วิถีชีวิตใหม่ที่เน้นใส่ใจเรื่องคุณภาพและความน่าเชื่อถือ สถานการณ์โควิด-19 และเจ้าตัวไวรัสทั้งเดลต้าและโอไมครอนที่มาใหม่ ส่งผลทำให้ผู้บริโภคหันมาช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งยังมีโปรแรงจากดับเบิลเดย์ 11.11, 12.12 ที่ล่อตาล่อใจ รวมทั้งการไลฟ์สดขายของต่างๆ เปิดโปรโมชั่นกล่องสุ่มที่มาแรง แต่ก็เจอดราม่าจากผู้ค้าออนไลน์ที่ขายของไม่มีคุณภาพ หรือขายสินค้าปลอมหรือลอกเลียนแบบ ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมถึงใส่ใจเรื่องของ คุณภาพ วัตถุดิบ แหล่งที่มา หรือมีสถาบันที่น่าเชื่อถือออกมารองรับตามที่แบรนด์สินค้าต่างๆ ได้เคลมไว้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
โดยครั้งนี้ทีมวิจัยได้จัด 10 อันดับ กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคจับจ่ายมากที่สุด ดังนี้
- อาหารและเครื่องดื่ม 20% (+2%)
- ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 13% (+3%)
- โทรศัพท์มือถือ, สมาร์ทโฟน 11% (0%)
- เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 7% (0%)
- ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม 6% (+3%)
- ท่องเที่ยว 5% (-3%)
- ตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้า 4% (-1%)
- คอมพิวเตอร์, แท็บแล็ต 4% (-1%)
- ทานอาหารนอกบ้าน 4% (+2%)
- รองเท้า, กระเป๋า 3% (0%)
ทางด้าน นางสาวมนัสริน ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด แบงคอก กล่าวเสริมว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา ทีมผู้วิจัยได้นำเสนอเนื้อหาใหม่โดยคาดการณ์และจัด 5 อันดับสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดในชีวิต ได้แก่ ครอบครัว 32% สุขภาพ 24% การงาน 12% ความมั่งคั่ง 11% และความสัมพันธ์ 5%
ด้านครอบครัว ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในสถานการณ์แบบนี้ ที่จะต้องช่วยกันข้ามผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากและเอาแน่นอนอะไรไม่ได้ การใส่ใจดูแลกัน การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันจะช่วยให้ทุกคนในครอบครัวได้ให้กำลังใจในการใช้ชีวิตด้วยความอบอุ่น
ด้านสุขภาพ คนส่วนใหญ่มองว่าเมื่อเรามีสุขภาพที่แข็งแรง ก็จะสามารถมีกำลังกาย และมีกำลังใจที่ดีตามไปด้วย สามารถทำงานหาเงินเพื่อมาดูแลครอบครัวได้โดยไม่ลำบาก โดยกลุ่มคนช่วงอายุ 50 ปี จะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมาเป็นอันดับแรก 36% เพราะคนกลุ่มนี้รู้สึกว่า เมื่ออายุมากขึ้นยิ่งต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพไม่ให้ตัวเองต้องเป็นภาระของใคร
ด้านการงาน กลุ่มคนช่วงอายุ 20 ปี ให้ความสำคัญกับเรื่องงานเป็นพิเศษ มากกว่าการดูแลสุขภาพ (16% vs 14%) ซึ่งคนกลุ่มนี้คิดว่าถ้าไม่มีงานก็จะไม่มีเงิน และจัดเป็นช่วงอายุที่อยู่ในการเริ่มต้นงานใหม่ หรืออยู่ในช่วงทดลองงานที่มีความเสี่ยงในด้านความมั่นคงจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อต้องการหางานที่สร้างความมั่นคงเพื่ออนาคตที่ดี
พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 บวกกับความยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้พฤติกรรมของคนไทยต่างให้ความสนใจกับข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น รวมถึงข่าว 10 อันดับที่อยู่ในกระแสที่ผู้คนถูกพูดถึงมากที่สุด อันดับแรกยังคงเป็นข่าวการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนและข่าวการฉีดวัคซีน 47% (เพิ่มขึ้นกว่า 20%) ตามมาด้วยข่าวร้อนแรงที่เป็นกระแสอย่างกระเป๋าแบรนด์เนมปลอม 7% ตามติดด้วยสถานการบ้านเมืองและการเมืองไทย ทั้งการเลือกตั้งหรือเตรียมยุบสภา 7% ตามมาติดๆ กับข่าวแม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง พิมรี่พาย ขายกล่องสุ่มสูงถึง 6% ข่าวอาชญากรรม การโกงเงิน 3% ด้านกีฬาหนีไม่พ้นข่าวฟุตบอล ซูซูกิคัพ ถึง 3% ท้ายด้วยข่าวสะเทือนวงการผ้าเหลือง อย่าง 2 อดีตพระนักเทศน์ พระมหาไพรวัลย์ พระมหาสมปอง 1% หากมองในภาพรวมแล้วแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ เน้นเกาะติดข่าวสารที่หลากหลาย โดยเฉพาะข่าวที่เป็นประเด็นร้อนและเกาะติดสถานการณ์บ้านเมือง และหาความสุขตามสภาพแวดล้อมของตนเอง
การสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2565 นี้ ทางสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้มุ่งเน้นที่จะสร้างคอนเทนท์ที่มีความเข้มข้นขึ้น รวมถึงการเจาะลึกข้อมูลในมุมมองที่หลากหลาย ในสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญในชีวิตประจำวันมากที่สุด ในแต่ละช่วงอายุ และมีคอนเทนท์ที่สร้างการมีส่วนร่วมกับคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/hakuhodohillasean
ที่มา: ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์