สำหรับการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อกำจัดและควบคุมเชื้อราสาเหตุของโรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพาราที่ยังคงมีชีวิตอยู่บนใบยางพาราที่ร่วงหล่นบริเวณพื้น ให้ใช้อัตราเชื้อราไตรโคเดอร์มาสด 1 กิโลกรัมต่อไร่ ทุก 3 เดือน เช่น ใช้เชื้อสดผสมปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม และรำ 4 กิโลกรัม หว่าน หรือใช้เชื้อสดผสมน้ำหรือน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพ 200 ลิตร ฉีดพ่น ทั้งนี้ ควรหว่านหรือฉีดพ่นให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาครอบคลุมบนใบยางพาราที่ร่วงหล่นทั่วทั้งสวน โดยการใช้เชื้อสดผสมปุ๋ยอินทรีย์หรือผสมน้ำหมักชีวภาพ อาจทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ต้นยางพาราจะได้รับธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ช่วยบำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรง
ด้านการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคพืชที่มีประสิทธิภาพตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทย ให้ฉีดพ่นพุ่มใบยางจากใต้ทรงพุ่มอัตรา 100 ลิตร/ไร่ ควรเริ่มพ่นเมื่อยางพาราแตกใบใหม่หลังฤดูกาลผลัดใบปกติและใบอยู่ในระยะเพสลาด โดยเลือกใช้สารเคมี เช่น 1) difenoconazole + propiconazole 15%+15% EC อัตรา ๑๕ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร 2) propinap หรือ mancozeb หรือ chlorothalonil อัตราผสม 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 3) hexaconazole (5% a.i.) อัตราผสม 30-40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 4) propiconazole (25% a.i.) อัตราผสม 10-15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้ เชื้อสาเหตุโรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา เป็นเชื้อราในอากาศ (Airborne fungi) สามารถแพร่กระจายได้ง่ายด้วยลมและฝน เกษตรกรควรระมัดระวัง ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นยางพาราในขณะฉีดพ่นสารเคมี เพราะ จะทำให้เกษตรกรได้รับละอองสารเคมีและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับยางพารา เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคใบร่วงชนิดใหม่และเชื้อสาเหตุโรคพืชหลายชนิดได้ จากการสังเกตในพื้นที่ของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา และการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดสตูลและตรัง พบว่า แปลงที่การจัดการดูแลที่ดี ต้นยางพาราจะแสดงอาการของโรคช้าและน้อยกว่า หากมีอาการโรคใบร่วงชนิดใหม่ จะช่วยให้ยางพารามีการฟื้นตัวได้ดีกว่า
สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจการผลิตและใช้ไตรโคเดอร์มาสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนใกล้บ้าน
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร