โอกาสนี้ อาจารย์กุลทิตา ยุวะหงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิทยบริการจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้บริการวิชาการแก่เกษตรกรและผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ แก่ครอบครัว โดยได้เริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ถึงปี พ.ศ.2562 ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมต่างๆที่หลากหลาย เป็นประโยชน์และตรงกับความต้องการของชุมชนชาวจังหวัดอุทัยธานี รวมทั้งสิ้น 116 กิจกรรม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วทั้งสิ้น 10,247 คน กิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวอุทัยธานีเป็นอย่างมากและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดขยายผลจากครอบครัวสู่ชุมชน จากชุมชนขยายไปยังจังหวัดต่างๆ อาทิเช่น จังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี อยุธยา นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ถือเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่หลากหลาย
ปีนี้นับเป็นปี ที่ 7 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีอย่างดียิ่งเสมอมา โดยครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมการบริการวิชาการและวิชาชีพแก่ชุมชนชาวจังหวัดอุทัยธานี จำนวน 2 กิจกรรม คือ กิจกรรม "การเพาะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อการเกษตร รุ่นที่ 1" และกิจกรรม "การฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรในท้องถิ่น" โดยมี อาจารย์ ดร.หฤษฎ์ นิ่มรักษา และคณะทำงานจากคณะวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยายและฝึกปฏิบัติ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม โครงการละ 100 คน ทั้งนี้ได้จัดกิจกรรมภายใต้ มาตรการป้องกันไวรัสโคโรน่า (โควิด-๑๙) ตามมาตรการคำสั่งของจังหวัดอุทัยธานี
นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี ได้ตระหนักดีว่าสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และความรู้เป็นต้นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบุคคลและสังคม ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนและสังคมให้เกิดความเจริญก้าวหน้า และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาชุมชน สังคม ท้องถิ่นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี พิจารณาเห็นว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงมีศักยภาพและมีองค์ความรู้ด้านวิชาการและการพัฒนาอาชีพต่างๆ ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดอุทัยธานีได้ จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดโครงการบริการวิชาการและวิชาชีพแก่ชุมชนชาวจังหวัดอุทัยธานีในครั้งนี้ หวังอย่างยิ่งว่าเกษตรกรจะได้รับความรู้และสามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพต่อไป
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ถือเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีร่วมกันจัดกิจกรรมการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพสู่ชุมชนชาวจังหวัดอุทัยธานี โดยได้ให้ความรู้ที่หลากหลายแก่ประชาชนในจังหวัดอุทัยธานี ตามความต้องการของชุมชน ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับตนเองและชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ ๗ แล้ว เพราะตระหนักว่าการเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ควรเป็นไปตามความต้องการของชุมชนท้องถิ่น และสนับสนุนให้สังคมทุกส่วนและทุกระดับได้รับการเสริมสร้างการเรียนรู้เต็มศักยภาพและสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ จะทำให้เกิดพลังชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งอันเป็นรากฐานที่มั่นคงในการเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีความยั่งยืนตลอดไป
"ความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในการที่จะให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ประกอบกับความตั้งใจที่ทุกท่านได้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ผม หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้ มีทักษะ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง และชุมชนต่อไปในอนาคต และขอขอบคุณนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี หัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ให้ความร่วมมือ ร่วมใจ จัดโครงการบริการวิชาการและวิชาชีพแก่ชุมชนชาวอุทัยธานี ในครั้งนี้และขอให้ประสบความสำเร็จ เกษตรกรได้รับความรู้และนำไปพัฒนาเป็นอาชีพต่อไป"
จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ลงนามความร่วมมือกับ นายเผด็จ นุ้ยปรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี ในการดำเนินโครงการบริการวิชาการและวิชาชีพแก่ชุมชนชาวอุทัยธานี ปีที่ ๗ ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนขาวอุทัยธานีได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาการ และวิชาชีพ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน ทั้งแก่ตนเอง ชุมชน และสังคม
ที่มา: มหาวิทยาลัยรามคำแหง