นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจใน 5 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 รวมไปถึงการระบาดของโควิด -19 บริษัทฯสามารถก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ มาได้ เนื่องจากบริษัท ฯ อยู่ในธุรกิจอาหารซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและมีความยั่งยืน สิ่งที่สำคัญคือการมีพันธมิตรที่ดีอย่าง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงแผนการลงทุนของบริษัทที่มั่นคง ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เทรนด์ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจของบริษัท ฯ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
"การดำเนินธุรกิจทีเอฟต่อจากนี้ ภายใต้การนำทัพของกลุ่มผู้บริหารยุคใหม่ พร้อมขับเคลื่อนทีเอฟสู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ New Business Model เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่นิยมสินค้าเพื่อสุขภาพและเทรนด์การใช้ชีวิตที่ต้องการความง่ายและสะดวก มุ่งขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย มีการจับมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจที่มากกว่าอาหารกึ่งสำเร็จรูป โดยมีการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทีมวิจัยของทีเอฟและการจับมือกับสถาบันวิชาการและมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้การขับเคลื่อนของทีเอฟอินโนเวชันทีม (TFIT) เพื่อนำพาทีเอฟเดินหน้าสู่ Future Food และขยายตลาดในการรองรับผู้บริโภคในกลุ่ม Healthy เพิ่มมากขึ้น" นายพิพัฒกล่าว
ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา TF ได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เข้ามาพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าในโรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่โรงงานสีเขียวเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) และนโยบายการขับเคลื่อน Bio Circular Green Economy (BCG)
สำหรับการทำตลาดในต่างประเทศที่ผ่านมา TF มีการทำตลาดไปแล้ว 68 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลิตภัณฑ์ "มาม่า"เป็นแบรนด์หลัก โดยในอนาคตบริษัทฯ มีเป้าหมายการทำตลาดที่มากกว่า Beyond Export นั่นคือ Global Market ซึ่งจะเน้นการทำตลาดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรีเมียมและไฮแวลูเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับ
เทรนด์ของผู้บริโภคในต่างประเทศ รวมทั้งการปรับดีไซน์และขนาดแพคเกจจิ้ง ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับตลาดในแต่ละประเทศมากขึ้น เน้นช่องทางการทำตลาดออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กัน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่คาดว่าจะขยายการลงทุนเพิ่มในต่างประเทศ โดยปัจจุบันสัดส่วนการทำตลาดในประเทศอยู่ที่ 70% และต่างประเทศอยู่ที่ 30%
ที่มา: อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น