นอกจากนี้ ผลผลิตน้ำผึ้งจะมีปริมาณมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศด้วย จากข้อมูลการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ทางภาคเหนือยังมีสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการบานของดอกลำไย แต่จะมีฝนบ้างในช่วงเดือนเมษายน เกษตรกรจึงควรวางแผนการผลิตให้ดีว่าจะเลือกเก็บน้ำผึ้งต่อหรือสลัดน้ำผึ้งออกจากรวง เนื่องจากการสลัดน้ำผึ้งในช่วงที่มีฝนตกจะส่งผลต่อความชื้นและคุณภาพน้ำผึ้ง แต่หากปล่อยให้ผึ้งเก็บน้ำผึ้งต่อ ก็อาจเสี่ยงต่อปริมาณน้ำผึ้งลดลง เนื่องจากผึ้งออกหาอาหารไม่ได้ จึงกินน้ำผึ้งที่อยู่ภายในหลอดรวงแทน ประกอบกับช่วงที่ฝนตกเกษตรกรชาวสวนลำไยนิยมพ่นยาฆ่าเชื้อราที่ช่อดอกลำไย ซึ่งอาจส่งผลเป็นอันตรายต่อผึ้งได้ ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถค้นหาข้อมูลการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ทาง https://weather.com
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบว่า ปี 2565 พื้นที่ภาคเหนือมีการปลูกพืชหลังนาเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก เป็นต้น ส่งผลให้ผึ้งมีแหล่งเกสรจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำหวานจากดอกลำไย เกษตรกรสามารถแบ่งผึ้งออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกต้องรวมรังผึ้งให้มีประชากรหนาแน่นเพื่อนำไปเก็บน้ำผึ้งในสวนลำไย ส่วนรังที่ประชากรผึ้งยังไม่พร้อมให้วางไว้ที่แปลงปลูกข้าวโพด เพื่อให้ผึ้งได้รับอาหารจากเกสรข้าวโพดและสามารถเพิ่มประชากรให้แน่นรัง เตรียมพร้อมสำหรับนำไปเก็บน้ำผึ้งในรุ่นถัดไป อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องสำรวจพื้นที่ตั้งวางรังผึ้งให้ดี ไม่ตั้งวางรังในบริเวณที่ปลูกพืชผัก ซึ่งมีความเสี่ยงจากสารเคมีและเป็นอันตรายต่อผึ้งได้
สำหรับโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้ง จากมุมมองของผู้ประกอบการเห็นว่าเกษตรกรจะต้องเน้นเรื่องคุณภาพของผลผลิตเป็นสำคัญ โดยนายบัญชา นทีคีรีกาญจน์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดพัฒนกิจฟาร์มผึ้ง กล่าวว่า น้ำผึ้งยังไปได้อีก ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก แต่เกษตรกรต้องคำนึงถึงการผลิตน้ำผึ้งให้ได้คุณภาพ โดยก่อนที่จะนำผึ้งออกไปจากรังเพื่อเก็บน้ำผึ้ง จะต้องดูแลสุขภาพผึ้งให้แข็งแรง ประชากรผึ้งในรังต้องแน่น เตรียมพร้อมที่จะออกสนาม ด้านนายยุทธพงษ์ เรืองศิริ บริษัทเชียงใหม่เฮลตี้ เห็นว่า เกษตรกรควรให้ความสำคัญในการขอรับรอง GAP ฟาร์มผึ้ง เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการส่งออกน้ำผึ้งไปต่างประเทศ และควรมีการวางแผนและตรวจสอบมาตรการ Covid-19 ในพื้นที่ที่จะเข้าไปเก็บน้ำผึ้งด้วย จากปีที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไม่สามารถเข้าพื้นที่เก็บน้ำผึ้งได้ ส่งผลให้ผลผลิตน้ำผึ้งน้อยกว่าปีก่อน แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ Covid-19 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ผลกระทบน่าจะน้อยลง และทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น
เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งสามารถรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมได้จากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร หรือติดตาม Facebook : ศูนย์ผึ้ง เชียงใหม่ ซึ่งจะมีการ Live สด ข้อมูลสาระดีดีด้านแมลงเศรษฐกิจ ทุกวันอังคาร เวลา 10.00 น. สำหรับประชาชนที่สนใจจะซื้อผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งเพื่อบริโภค กรมส่งเสริมการเกษตร ขอเชิญชวนอุดหนุนน้ำผึ้งคุณภาพจากเกษตรกรผู้ผลิตได้ทาง www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร