โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ Atopic Dermatitis เป็นโรคที่มีอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง มักเป็นๆ หาย ๆ จากปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม กำหนดให้ผู้ป่วยมีผิวแห้งและมักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือมีโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร่วมด้วย ปัจจัยสำคัญอีกข้อคือมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการกำเริบ โดยแต่ละคนจะมีปัจจัยที่กระตุ้นที่แตกต่างกัน ปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อย เช่น อาหารในเด็กเล็ก การติดเชื้อที่ผิวหนัง สารก่อการระคาย หรือสารก่อภูมิแพ้ ผิวหนังของผู้ป่วยจะไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งสภาพทางกายภาพ เช่น ภาวะอากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป หรือสารเคมีที่ระคายผิวหนัง เป็นต้น
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย หลายคนมักมองข้าม ไม่ใส่ใจโรคเหล่านี้มากนัก แต่หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดภาวะรุนแรงหรือเรื้อรังขึ้นได้ โดยอุบัติการณ์ของโรคนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ ในเด็กไทยพบประมาณร้อยละ 10-20 ส่วนผู้ใหญ่พบน้อยกว่าประมาณร้อยละ 2-10 เด็กที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการตั้งแต่ยังเป็นทารกอายุ 3 เดือนขึ้นไป ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเติบโตขึ้น แต่มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 2 ที่ไม่เคยปรากฏอาการในวัยเด็ก แต่เริ่มมีอาการในวัยผู้ใหญ่
สำหรับลักษณะผื่นของโรคภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ป่วย มี 3 แบบ ได้แก่
ระยะเฉียบพลัน คือ มีผื่นบวมแดงที่มีตุ่มน้ำขนาดเล็ก บางรายอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา มีอาการคันมาก
ระยะกึ่งเฉียบพลัน คือ ผื่นแดง ตุ่มน้ำ แห้งเป็นสะเก็ด มีขุยบ้าง มีอาการคันมาก
ระยะเรื้อรัง คือ ผื่นจะมีสีไม่แดงมากหรือออกสีน้ำตาล อาจนูนหนา และเห็นร่องผิวหนังชัดเจน มีอาการคันมากผู้ป่วยภาวะเรื้อรังบางรายมีอาการคันรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตและครอบครัว ตลอดจนกระทบความมั่นใจและการเข้าสังคม ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าปกคลุมผิวหนังหลายๆ ส่วนของร่างกาย เนื่องจากความอาย จนนำไปสู่ผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เกิดความเครียด กังวล และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด
ในปัจจุบัน โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เมื่อโตขึ้นอาการจะดีขึ้น ส่วนใหญ่จะหายได้ และสามารถควบคุมการกำเริบของโรคได้ ดังนั้น เป้าหมายของการรักษาโรคนี้จึงอยู่ที่ การพยายามควบคุมอาการของโรคและให้อยู่ในช่วงสงบนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยแนวทางการรักษา ได้แก่ การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้อาการกำเริบ การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง เช่น โลชั่น ครีมบำรุงผิว ควรทาหลังอาบน้ำทันที และไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น เฉพาะเมื่อมีการอักเสบที่ผิวหนังจึงใช้ยาทาลดการอักเสบ ทาบริเวณผื่นที่มีอาการเห่อแดงอักเสบ เมื่อควบคุมอาการได้ควรลดการใช้ยาหรือหยุดยา ในรายที่ผื่นเป็นมากและอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยากดภูมิ และในปัจจุบันมีการรักษาโดยยาฉีดกลุ่มชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งความก้าวหน้าของแนวทางการรักษา โดยจะเลือกใช้ในรายที่มีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่น ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย www.dst.or.th หรือรับชมผ่านเพจเฟซบุ๊ก "ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง"
ที่มา: สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย