รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวแสดงความยินดีในความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานพันธมิตรว่า ความร่วมมือของ วว. และบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด นับเป็นก้าวสำคัญของการบูรณาการดำเนินงานเพื่อใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย อันเป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ โดยปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่ ที่ยึดโยงศักยภาพและความได้เปรียบจากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ มาปรับเปลี่ยนการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ฐานชีวภาพ ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ทั้งนี้ความท้าทายที่สำคัญในปัจจุบันภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 มีทิศทางที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้คือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลด้านสุขภาพของผู้สูงวัยสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ที่เป็นผลมาจากภาวะสุขอนามัยที่เกิดจากการกินของคนในช่วงวัยทำงาน ก่อให้เกิดกลุ่มอาการไขมันในเลือดสูงที่นำไปสู่ภาวะโรคอ้วน อันเป็นต้นกำเนิดของโรคไขมันในหลอดเลือดและตับ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 และกลุ่มโรคภาวะสมองเสื่อมจากความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน โดยกลุ่มอาการและโรคดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตและแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาปัจจุบัน เชื่อมั่นว่าในความร่วมมือการทำงานของทั้งสองหน่วยงานจะสามารถตอบโจทย์ของประเทศดังกล่าวและนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาชาติในระยะเวลาอันใกล้
ศ.นพ.ดร. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวถึงแนวนโยบาย อว. กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG กลุ่มจุลินทรีย์ ว่า อว. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนประเทศเชิงบูรณาการในทุกมิติ มุ่งใช้ความได้เปรียบเชิงทรัพยากรและวัฒนธรรม โดยการขับเคลื่อนนโยบาย BCG เป็นฐานในการพัฒนาที่มีเป้าหมายร่วมคือ "ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายใน 7 ปี" โดยในปี 2565 รัฐบาลกำหนดให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และมุ่งดำเนินงานเชิงรุกในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปช่วยตอบโจทย์ แก้ปัญหา อย่างเป็นรูปธรรม มีกลไกขับเคลื่อนสำคัญ อาทิ การสร้างเศรษฐกิจจากฐานจุลินทรีย์ให้มีมูลค่าอย่างน้อย 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยการสร้างผู้ประกอบการ ธุรกิจฐานนวัตกรรม เพิ่มสมรรถนะการวิจัยและบุคลากร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อ (Microbial bank การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์) ส่งเสริมการลงทุนและมาตรการทางการเงิน รวมทั้งมุ่งเน้นสนับสนุนให้มีการทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรวมให้ยั่งยืน
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. กำหนดแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ด้วยการใช้ประโยชน์จากกลุ่มจุลินทรีย์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการภายในประเทศทุกระดับชั้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้านการเกษตร อาหาร อาหารสุขภาพ การแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันและต่อยอดงานวิจัยพัฒนา (Translational Research) ในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) สู่การบ่มเพาะเทคโนโลยีในระดับโรงงานนำทางด้วยกระบวนการทางวิศวกรรมไปสู่ระดับอุตสาหกรรม (Industrial/Commercial scale) เพื่อให้เกิดการ Spin-off ของธุรกิจนวัตกรรม และการวางรากฐานของประเทศสู่กลไกการขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมชีวภาพ อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าและคุณค่าสูง (Value Creation) ที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ความร่วมมือกับบริษัทอินโนบิกฯ ในระยะเวลา 5 ปีจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหาร และบ่มเพาะธุรกิจไปใช้ประโยชน์สู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มต้นร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก ซึ่งมีประสิทธิภาพช่วยปรับสมดุลทางเดินอาหาร ไขมันพอกตับ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยการทำงานของระบบสมอง ที่พร้อมจำหน่ายทางการค้าเร็วๆนี้ นอกจากนี้ยังมีขอบข่ายความร่วมมือการวิจัยพัฒนาด้านการใช้จุลินทรีย์พันธุ์ไทยร่วมกัน ตลอดจนการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ วว. และบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จะดำเนินงานร่วมกันภายใต้ความเชี่ยวชาญของ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม หรือ ICPIM ซึ่งเป็นศูนย์นวัตกรรมของ วว. ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบครบวงจร (Research and Development, Innovation and Manufacturing : RDIM) ประกอบด้วยนักวิจัยที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์โพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นทาง (Upstream unit) ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการ ระดับสัตว์ทดลอง จนถึงการศึกษาในระดับมนุษย์ (Clinical trial) ถึงระดับปลายทาง (Downstream unit) มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานสากล ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถือว่าเป็นสายการผลิตที่ครบวงจรเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน
"...จากการที่ผู้บริโภคมีความตื่นตัวด้านสุขภาพมากขึ้น แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศและภูมิภาคเอเซียต่อผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกมีทิศทางที่สูงขึ้นชัดเจน โดยคาดการณ์มูลค่าการตลาดว่ามีมากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นเชื่อมั่นว่าผลงานที่เกิดจากความร่วมมือนี้จะสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ สร้างผลงาน ผลิตภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและต่อประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของอินโนบิก (เอเซีย) มุ่งเป็นผู้นำธุรกิจ life science โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนไทย สร้างนวัตกรรม พร้อมแสวงหาความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันต่อยอดองค์ความรู้ ในลักษณะ open innovation ความร่วมมือกับ วว. ครั้งนี้เป็นการสานต่อการทำงานร่วมกันที่มีมายาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีประสิทธิภาพช่วยปรับสมดุลทางเดินอาหาร ไขมันพอกตับ และไขมันในเลือด ที่พร้อมวางจำหน่ายในตลาดเร็วๆนี้ เป็นผลสำเร็จนำร่องจากทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย ที่ช่วยป้องกันอาการในกลุ่มโรค NCDs นอกจากนี้จะขยายขอบเขตการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยการป้องกันบรรเทาโรคอื่นๆ โดยการวิจัยพบว่าจุลินทรีย์ที่ลำไส้หลายสายพันธุ์สามารถสร้างสารสื่อประสาทต่างๆขึ้นมาได้ และไปส่งผลต่อการทำงานของสมองในด้านการควบคุมความอยากอาหาร กระบวนการเรียนรู้และความจำ และการควบคุมภาวะเครียดและอารมณ์ต่าง ทั้งนี้ยังพบว่าโพรไบโอติกสามารถช่วยให้อารมณ์และความจำดีขึ้นและยังช่วยลดความเครียดได้ นอกจากนี้จะขยายผลการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ในด้านอื่นๆต่อไป เพื่อมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี และประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ บนฐานความรู้ทางด้านชีววิทยาศาสตร์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษาจาก ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 061 414 3934, 0 2577 9771 โทรสาร 0 2577 9058 E-mail : [email protected] และ ID Line : @brc_tistr
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย