นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยภายใต้แบรนด์ 'ศักดิ์สยามลิสซิ่ง' เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จจากความมุ่งมั่นการให้บริการสินเชื่อแก่ประชาชนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนนำไปประกอบอาชีพให้แก่ลูกค้า ด้วยความเป็นธรรม เข้าใจและเข้าถึง ผลักดันผลการดำเนินงานปี 2564 พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8,685 ล้านบาท เติบโต 35.6% สูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์การสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินด้วยการลงทุนขยายสาขาใหม่ ช่วยขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นและลูกหนี้เงินให้สินเชื่อเฉลี่ยต่อสัญญาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้รวมจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมและบริการอยู่ที่ 1,839 ล้านบาท เติบโต 14.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการที่พอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้น 2,279 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขณะที่กำไรสุทธิ 607.5 ล้านบาท เติบโต 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม หรือ Cost to Income อยู่ที่ 50% และมีอัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อโดยเฉลี่ย (Yield on Loan) อยู่ที่ 24.4% นอกจากนี้ SAK ยังสามารถบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่มีความรัดกุม จึงควบคุมหนี้ NPLs ให้อยู่ในระดับ 2.2% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
ความสำเร็จของผลการดำเนินงานดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 จึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.116 บาทต่อหุ้น เป็นจำนวนเงิน 243 ล้านบาท โดยกำหนดวันขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 27 เมษายน 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม2565 นี้
กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง กล่าวว่า สำหรับวิสัยทัศน์ปี 2022 บริษัทฯ มุ่งก้าวสู่ผู้นำให้บริการสินเชื่อที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน โดยปล่อยสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพสร้างรายได้ของชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาขีดความสามารถการให้บริการที่ดีขึ้น โดยบริษัทฯ วางแผนนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อครบครันตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายิ่งขึ้น ล่าสุด SAK ได้สนับสนุนสินเชื่อโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนแก่เกษตรกรนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมผลิตภาพการทำเกษตรกรรม ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางเกษตรด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง รวมทั้งขยายสาขาให้ครบ 930 สาขาในปี 2565 จากเมื่อปีที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 720 สาขา ตลอดจนมุ่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศโดยพัฒนา "Mobile Application" ยกระดับการให้บริการรับชำระเงินเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับลูกค้า
"เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งร่วมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อนำไปประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนในทุกอาชีพ ทั้งการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกร หรือฐานทุนต่างๆ สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียน การเพิ่มผลิตภาพ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ซึ่งในปีนี้มีแนวโน้มความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนมีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำเงินไปประกอบอาชีพรับกับเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยจากแผนธุรกิจในปี 2565 มั่นใจว่าพอร์ตสินเชื่อเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่ที่ 11,379 ล้านบาท
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย