ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เปิดเผยถึง ผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดปี 2564 (สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564) มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 464.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 225.10% มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,527.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 39.31% โดยมีรายได้จากการรักษาพยาบาล 2,255.01 ล้านบาท เติบโตขึ้น 42.59% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้การรักษาพยาบาลสำหรับผู้ใช้บริการทั่วไปเติบโต 29.74% และจากโครงการประกันสังคม 54.57% ซึ่งมีปัจจัยบวกหลักจากผู้เข้ารับบริการทั้งผู้ป่วยปกติและผู้ป่วยที่มีอาการร่วมกับโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งบริษัทฯเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ และได้ขยายศักยภาพการดูแลรักษาโรคโควิด-19 ให้ครบวงจร เพิ่มกำลังการให้บริการทั้งทางห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 และยืนยันผลทั้งกรณีผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยโควิด และการรักษาพยาบาลตั้งแต่การร่วมบริหารศูนย์พักคอยสำหรับชุมชน การแยกผู้ป่วยเพื่อรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแสดงอาการรุนแรงระยะติดตามใกล้ชิด จนถึงในหอวิกฤต (Covid-ICUs) รวมถึงการบริการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ในส่วนของรายได้งานตรวจสุขภาพ (Mobile Checkup) และพยาบาลปฏิบัติงานในโรงงานและหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา คิดเป็น 221.22% รวมทั้งการเติบโตต่อเนื่องของรายได้จากบริษัทย่อย AMARC เติบโต 11.86% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการขยายขอบเขตการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทั้งสินค้าเกษตร อาหารและยา กอปรกับกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น แม้อยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น และสะท้อนความเชื่อมั่นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตรา 51.03% จากผลประกอบการกำไรสุทธิประจำปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 2 ครั้ง ในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท คงเหลือการจ่ายเงินปันผลอีกในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 วันที่จ่ายปันผล 20 พฤษภาคม 2565
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติลงทุนเพิ่มในบริษัท ศูนย์บริหารจัดการธุรกิจแห่งเอเซีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยใช้กระแสเงินสดของบริษัท วงเงินในการเพิ่มทุนไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสถานพยาบาล ศูนย์สุขภาพ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนออกใหม่จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและให้คงสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท ศูนย์บริหารจัดการธุรกิจแห่งเอเซีย จำกัด ไว้เท่าเดิมและให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารในการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
สำหรับแผนธุรกิจปี 2565 นี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 15-20% เนื่องจากคาดว่าปริมาณผู้ป่วยจากต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลาง (อาหรับ) และประเทศกัมพูชาจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังจากบริษัทมีการทำข้อตกลงกับกลุ่มลูกค้าในเป้าหมายไว้แล้ว รวมถึงการดึงแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่เข้ามาร่วมให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับคาดว่าสถานการณ์แนวโน้มลูกค้ากลุ่มผู้ป่วยทั่วไปจะกลับเข้ารับบริการในภาวะปกติได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565
ขณะที่แผนการลงทุนในปี 2565 บริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับก่อสร้างอาคารใหม่ 3 อาคาร โดยแบ่งเป็นอาคารจอดรถอัจฉริยะ 300 คัน มูลค่าราว 60 ล้านบาท ในเดือนมกราคม 2565 เตรียมลงฐานราก คาดว่าใช้เวลาก่อสร้าง 6 เดือน และก่อสร้างอีก 2 อาคาร พื้นที่อาคารรวมประมาณ 10,000 ตารางเมตร จำนวนเตียงเพิ่มขึ้น 50 เตียง เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านตา และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมและศูนย์โรคหัวใจ มูลค่าราว 400-500 ล้านบาทแต่ละอาคาร คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2566 และเปิดให้บริการปี 2567 การลงทุนโรงพยาบาลเฉพาะทาง ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ LPH ยังมีแผนลงทุนขยายโรงพยาบาลตรวจสุขภาพอีก 3 แห่ง ใช้เงินลงทุนแห่งละ 15-20 ล้านบาท โดยเล็งพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งกำลังศึกษาพื้นที่ในภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำพูน ลำปาง แพร่ เชียงราย เป็นต้น ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะใช้โมเดลเดียวกับการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญของโรงพยาบาลเอกชน ในจังหวัดอยุธยา คือ โรงพยาบาลเอเชีย ที่ LPH ถือหุ้นประมาณ 50% ส่วนที่เหลือก็ให้แพทย์ พนักงาน สถานประกอบการ โรงงาน คนท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการถือหุ้น ทั้งนี้ รายได้หลักของโรงพยาบาลฯ คือ ห้องพยาบาล บริการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ ซึ่งตามกฎหมายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องตรวจสุขภาพพนักงานทุกปี และต้องมีการตรวจด้านอาชีวอนามัย เป็นต้น
"การลงทุนดังกล่าวเพื่อขยายธุรกิจด้านการให้บริการตรวจวิเคราะห์และวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับบริษัท และสถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงการตรวจสุขภาพประจำปี และการตรวจอาชีวอนามัยให้กับกิจการและผู้ใช้บริการทั่วไป อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจด้านสุขภาพซึ่งเป็นธุรกิจที่สอดคล้องและสนับสนุนธุรกิจโรงพยาบาลของบริษัท" ดร.อังกูร กล่าว
ที่มา: ไออาร์ พลัส