ถึงแม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 จะส่งผลกระทบทำให้รายได้จากการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน จำนวน 2,764 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.5 แต่จากการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้ต้นทุนการให้บริการ และค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลงจากปีก่อน จำนวน 1,624 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 ทำให้ในปี 2564 BEM ยังคงมีกำไรสุทธิ จำนวน 1,010 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จำนวน 1,041 ล้านบาท หรือร้อยละ 50.8 อย่างไรก็ตาม BEM พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ถือหุ้น โดยจะมีการเสนอเพื่อขออนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.08 บาท ทั้งนี้กำหนดจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ในวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2565 ในรูปแบบ e-AGM
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 BEM ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาการให้บริการโดยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการนำเทคโนโลยี EMV Contactless มาใช้ในการชำระค่าผ่านทางพิเศษในโครงการทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ และทางพิเศษอุดรรัถยา และใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ไร้สัมผัส ใช้ก่อนจ่ายทีหลัง นอกจากนี้ ในปี 2564 BEM ได้รับคัดเลือกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้อยู่ในรายชื่อ "หุ้นยั่งยืน" หรือ "Thailand Sustainability Investment" (THSI) ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 รวมทั้งได้รับรางวัล
สุดยอดองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในประเทศ ในหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ "ASEAN and Thailand's Top Corporate Brands 2021" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
สำหรับการบริหารด้านการเงิน BEM ในปี 2564 เป็นบริษัทเอกชนรายแรกในกลุ่มธุรกิจขนส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debentures) มูลค่า 6,000 ล้านบาท เงินที่ได้นำไปชำระคืนหนี้เดิมและ/หรือเงินลงทุน (Refinance) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งได้รับการตอบ
รับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี มียอดจองซื้อมากกว่า 28,000 ล้านบาท หรือมากกว่า 4.7 เท่า และหุ้นกู้ครั้งนี้ได้รับรางวัล Best Sustainability Bond Award ประจำปี 2021 จาก The Asset นิตยสารการเงินชั้นนำของเอเชีย ถือเป็นแรงสำคัญในการสนับสนุนให้ BEM เดินหน้าประกอบธุรกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในเมืองให้น่าอยู่มากขึ้นต่อไป
ที่มา: ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ