ณ งานประชุมระดับโลก Huawei Day 0 Forum - Lighting up the Future ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยบริษัทหัวเว่ย ได้เชิญโรงพยาบาลศิริราชมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับโซลูชันโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G แห่งแรกของประเทศไทย ผลักดันอุตสาหกรรมสาธารณสุขอัจฉริยะแห่งอนาคตให้แก่ภาคสาธารณสุขของประเทศไทย หวังต่อยอดเป็นแม่แบบโรงพยาบาลอัจฉริยะของภาคสาธารณสุขในระดับโลก
ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนประเทศไทยขึ้น กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อโรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G แห่งประเทศไทยบนเวทีโลก ว่า "โควิด-19 ได้สร้างความท้าทายต่างๆ ให้แก่ทุกภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกโดยเฉพาะภาคสาธารณสุข จากความเชื่อมั่นของเราที่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็น ในการสร้างนวัตกรรมรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะทั้งหลายจะเข้ามาสร้างคุณประโยชน์ให้แก่เราอย่างมากมาย ภาคสาธารณสุขของประเทศไทยได้มีวิสัยทัศน์เรื่องโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ทางสังคมให้ดีขึ้น ยกระดับประสิทธิผลการรักษาและเพิ่มการเข้าถึงการบริการในภาคสาธารณสุข ซึ่งตั้งแต่เกิดสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ทางโรงพยาบาลศิริราชและหัวเว่ย ประเทศไทย ได้ร่วมมือกันในหลายโครงการ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโควิด-19 จากภาพ CT Scan และรถไร้คนขับระบบ 5G เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพการรักษาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งล่าสุด เรายังได้เปิดตัวโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G แห่งแรกของอาเซียนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริการสำหรับผลักดันภาคสาธารณสุขของประเทศไทยให้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเชิงไอซีที"
ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G จะเข้ามาช่วยให้เกิดการบริการทางการแพทย์รูปแบบใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงพยาบาลด้วยคุณสมบัติของเครือข่าย 5G ที่มีความเร็วครอบคลุมและความหน่วง (latency) ของการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำ ทำให้งานด้านการส่งข้อมูล การดูแลผู้ป่วย การเก็บข้อมูลวิเคราะห์ และการสั่งงานจากระยะไกลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดการดูแลรักษาคนไข้ที่ดียิ่งขึ้นและพัฒนากระบวนการการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม โดยโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงหนึ่งปีก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 และได้รับการเร่งกระบวนการให้รวดเร็วขึ้น มีการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมและติดตั้ง MEC (Multi-access Edge Computing) ช่วยให้ทางโรงพยาบาลศิริราชสามารถพัฒนาเครือข่าย Private Network ที่มีความปลอดภัยสูง ให้ประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น และยังได้รับการออกแบบเพื่อเชื่อมต่อทุกคนและทุกสิ่งเข้าด้วยกันภายใต้เทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์
"ในช่วงสองสามปีต่อจากนี้ รูปแบบของบริการด้านดิจิทัลที่นำมาประยุกต์ใช้ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลจะได้รับการขยายต่อยอดไปมากกว่า 9 โครงการที่ริเริ่มอยู่ในขณะนี้ และจะขยายการบริการด้านดิจิทัล เป็นต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆ และบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ โรงพยาบาลศิริราชจะมุ่งมั่นพัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะในประเทศไทย" ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเสริม
โครงการศิริราชต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ศิริราช กสทช. และบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับวงการสาธารณะสุขของไทย โดยสำนักงาน กสทช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยจะได้รับจากการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในทางการแพทย์ จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนิน "โครงการต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงพยาบาล โดยการนำเทคโนโลยี 5G รวมทั้งคลาวด์ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ ยกระดับการรักษาพยาบาล ช่วยให้คนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษา เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และบริษัท หัวเว่ยได้มาร่วมพัฒนานวัตกรรมโซลูชันด้วยเทคโนโลยี 5G และคลาวด์ ในการเสริมศักยภาพให้แก่สาธารณสุขไทย และเพื่อผลักดันโรงพยาบาลศิริราชเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลก ซึ่งภายหลังจากที่คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการดังกล่าว ที่จะยกระดับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรูปแบบใหม่ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพอันนำไปสู่การพัฒนา เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ในอนาคต ทางคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลจะร่วมมือกับหัวเว่ยในการพัฒนานวัตกรรมและร่วมผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านบริการของเรา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดีขึ้น และ เพื่อเสริมศักยภาพภาคสาธารณสขุของประเทศไทย ยกระดับคุณภาพงานบริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ ขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งล้วนเป็นการตอบโจทย์ในการก้าวสู่วิสัยทัศน์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในการเป็น "สถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดิน เพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ" และเป็นต้นแบบโรงพยาบาลอัจฉริยะให้กับ โรงพยาบาลอื่น ๆ ในประเทศไทยและระดับนานาชาติต่อไป" ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ หัวเว่ย ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยีและเป็นองค์กรภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ตั้งเป้าผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเสริมศักยภาพให้แก่แพทย์ไทย ด้วยการส่งมอบนวัตกรรมโซลูชันจากเทคโนโลยีของหัวเว่ย คลาวด์ และเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านการวินิจฉัยโรค การปฏิบัติการและการติดต่อประสานงานในโรงพยาบาลศิริราช โครงการนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ได้อย่างทั่วถึงในภาคสาธารณสุขของประเทศไทย ยกระดับคุณภาพงานบริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ขึ้นไปอีกขั้น โดยเครือข่าย 5G จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโรงพยาบาลจากการรับประกันคุณภาพความเร็วเครือข่าย ความเสถียรของเครือข่าย และช่วยให้ระบบบริการด้านสาธารณสุขต่างๆ มีค่าความหน่วง (latency) ของการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำที่สุด ส่งผลให้งานด้านการดูแลผู้ป่วย การเก็บข้อมูลวิเคราะห์และการสั่งงาน จากระยะไกลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังเป็นต้นแบบของแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน บนเทคโนโลยีคลาวด์ที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังของข้อมูลในประเทศไทย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และคลาวด์ในโรงพยาบาลอัฉริยะจะเปิดให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ๆ มากมาย ให้แก่ภาคสาธารณสุขของไทย เช่น ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ Smart EMS ระบบทำนายปริมาณการใช้และการจัดการสินค้าคงคลัง ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ผ่านเครือข่าย 5G ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ และระบบขนส่งกลางด้วยรถไร้คนขับ 5G เป็นต้น
งานมหกรรม MWC Barcelona ถือเป็นงานแสดงด้านอุตสาหกรรมการเชื่อมต่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก โดยบริษัทชั้นนำระดับโลกและผู้บุกเบิกในภาคอุตสาหกรรมหลายรายจะมาร่วมแสดงแนวคิดความเป็นผู้นำทั้งในด้านความก้าวหน้าและอนาคตของการเชื่อมต่อ โดยในงานดังกล่าว หัวเว่ยจะจัดแสดงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีมากมายที่จะมาปฏิวัติวงการ รวมทั้งเชื่อมต่อระหว่างผู้นำในระดับอาวุโส นักสร้างสรรค์ และนวัตกรของภาคอุตสาหกรรมนี้เข้าด้วยกันอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์