ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. ๒๕๔๘ และได้มีประกาศบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้ครอบคลุมถึงอาคารบางประเภทที่มีขนาดและลักษณะที่สมควรต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อาคารได้มากยิ่งขึ้น
นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวก ในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประเภท ขนาด ลักษณะของอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดตั้ง ขนาด จำนวนและมาตรฐานของสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ในสาระสำคัญของกฎกระทรวง เช่น ๑. ประเภทอาคารแต่ละประเภทที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ได้แก่- อาคารที่ให้บริการสาธารณะ ได้แก่ โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม สถานศึกษา หอสมุด อาคารประกอบของสนามกีฬากลางแจ้งหรือสนามกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ฌาปนสถาน ศาสนสถาน พิพิธภัณฑสถาน และสถานีขนส่งมวลชน- สถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน- อาคารที่ประกอบกิจการให้บริการหรือรับดูแลเด็ก ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือคนชรา- อาคารที่ทำการของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย- สำนักงาน อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หรือหอพัก ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่- อาคารพาณิชยกรรมหรืออาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่งที่มีพื้นที่สำหรับประกอบกิจการตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป- สถานีบริการน้ำมัน สถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง 2.
สิ่งอำนวยความสะดวกที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ได้แก่ ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก (ประกอบด้วย สัญลักษณ์รูปผู้พิการ เครื่องหมายแสดงทิศทาง และสัญลักษณ์หรือตัวอักษรที่แสดงประเภท ของสิ่งอำนวยความสะดวก) ทางลาดและพื้นต่างระดับ ลิฟท์ บันได ที่จอดรถ ทางเข้าอาคาร ทางเดินระหว่างอาคารและทางเชื่อมระหว่างอาคาร ประตู ห้องส้วม พื้นผิวต่างสัมผัส พื้นที่สำหรับเก้าอี้ล้อในโรงมหรสพและหอประชุมห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรม และพื้นที่หลบภัยในอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ
ที่มา: กรมโยธาธิการและผังเมือง