ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศถือได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยแห่งใหม่ โดยจัดแสดงนิทรรศการที่นำเสนอบทบาทภารกิจของ สศช. ในการพัฒนาประเทศในแต่ละยุคตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๐ และในปี ๒๕๖๓- ๒๕๖๔ จึงได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงนิทรรศการภายในห้องต่างๆ ให้มีความทันสมัย ทั้งเนื้อหาสาระและรูปแบบการนำเสนอให้ทันต่อสถานการณ์ พร้อมแนวคิดในการสร้างสรรค์รูปแบบการให้บริการความรู้ตามแนวทางของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่สามารถกระตุ้นความสนใจให้ผู้ชมได้เกิดปฏิสัมพันธ์และกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองไปกับชุดนิทรรศการ เช่น วิดิทัศน์ เกมคอมพิวเตอร์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรม สามารถเรียนรู้การพัฒนาประเทศอย่างเพลิดเพลินนำไปสู่ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาประเทศ องค์ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติร่วมดำเนินการและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
ดร.อำพน กิตติอำพน องคมนตรี กล่าวในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ว่า สิ่งแรกที่หยิบขึ้นมาศึกษาเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ คือ "ตำราทรัพย์ศาสตร์" ที่พระยาสุริยานุวัตรได้เขียนไว้ รวมทั้งได้ศึกษาประวัติของพระยาสุริยานุวัตรอย่างละเอียดแล้วพบว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้า ทันสมัย และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ และรู้สึกประทับใจ มติสุริยานุวัตร ซึ่งกล่าวว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ แปลว่า ธรรม ย่อมรักษา ผู้ประพฤติธรรม ดังนั้น จึงอยากให้สาธารณชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสภาพัฒน์ได้รับรู้ ตระหนักในความสำคัญและเข้าใจถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของตำราทรัพย์ศาสตร์ อาคารสุริยานุวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณูปการของพระยาสุริยานุวัตรที่มีต่อประเทศจึงเป็นที่มาของการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรฯ ให้เป็นแหล่งจุดประกายความคิดให้คนที่เข้ามาเรียนรู้นำไปปฏิบัติ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับประเทศชาติและส่วนรวม จึงขอขอบคุณเลขาธิการ สศช. ที่สนับสนุนให้มีการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรฯ ขึ้นในครั้งนี้ และหวังว่าพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรฯ แห่งนี้ จะยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ จุดประกายความคิดให้กับสาธารณชนต่อไป" ดร.อำพน กล่าว
ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า สศช. ได้จัดทำ ""พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ" เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ เกี่ยวกับวิวัฒนาการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่เกียรติคุณของพระยาสุริยานุวัตร ผู้มีส่วนสร้างความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ และยังเป็นผู้แต่งหนังสือทรัพย์ศาสตร์" นายดนุชา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์และห้องสมุดสุริยานุวัตร โทรศัพท์ 0-2280-4085 ต่อ 2108-2116 หรือ Email : [email protected] โดยเปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ
ที่มา: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)