กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรเบื้องต้นหลังน้ำลด และผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว โดยต้องดำเนินการสำรวจความเสียหายให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในกรณีที่วงเงินที่จะชดเชยไม่เกิน 5 แสนบาท จะเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. พิจารณาให้การช่วยเหลือเกษตรกร ภายใน 5 วัน หากวงเงินชดเชยเกินกว่า 5 แสนบาท จะต้องเร่งเสนอ ก.ช.ภ.จ. พิจารณาให้การช่วยเหลือ ภายใน 5 วัน และหากเกินวงเงิน 20 ล้านบาท จะต้องเสนอกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อสรุปเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาให้การช่วยเหลือต่อไป
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรมีโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งดำเนินการผลิตพืชพันธุ์ดีให้เกษตรกรในยามฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุอุทกภัยภาคใต้ครั้งนี้ได้มอบหมายให้ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุราษร์ฏานี ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดกระบี่ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดยะลา เตรียมพร้อมพันธุ์พืชผักและไม้ผลหลังน้ำลด สำหรับสนับสนุนเกษตรกรทันที จำนวนกว่า 262,000 ต้น อาทิ พริกเดือยไก่ พริกขี้หนู มะเขือเปราะ มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือพวง กะเพรา แมงลัก กระเจี๊ยบเขียว กล้วยน้ำว้า มะละกอ ทุเรียนบ้าน หมาก กาแฟ ผักเหลียง กระท่อม เป็นต้น ซึ่งเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมเพาะปลูกและรับประทานในพื้นที่ รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 5 แห่ง คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง และยะลา จะสนับสนุนเชื้อราไตรโครเดอร์มาพร้อมใช้ จำนวน 58,486 กิโลกรัม และหัวเชื้อสำหรับให้เกษตรกรขยายเชื้อเอง จำนวน 5,500 ขวด เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟู ป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคพืชให้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยภายหลังน้ำลด
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือยังคงเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ในอัตราดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่เสียหายจริงไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร