สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เกษตรของภูมิภาคอาเซียน" มีตัวชี้วัด ได้แก่ ต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตรที่สำคัญต่อยอดขายลดลงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 3 ต่อปี มูลค่าการดำเนินธุรกิจ รวบรวมของสหกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ต่อปี การอำนวยความสะดวกและให้บริการด้านโลจิสติกส์เกษตรเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดร้อยละ 100 ทั้งนี้ กำหนดประเด็นการพัฒนา 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์เกษตร 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์เกษตร และ 3) การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนโลจิสติกส์ภาคการเกษตร
ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบ โลจิสติกส์การเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันผลักดันภายใต้ประเด็นการพัฒนาต่างๆ ประกอบด้วย การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการในการบริหารจัดการโลจิสติกส์เกษตร โดยเน้นการยกระดับสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งให้เป็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์เกษตร สนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโลจิสติกส์เกษตร สร้างและพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรต้นแบบ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ให้มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ภาคการเกษตร ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์เกษตร โดยการยกระดับศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรของสถาบันเกษตรกร สร้างเครือข่าย สถาบันเกษตรกร ให้เป็นฐานการรวบรวมกระจายและเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญในภูมิภาค พัฒนาตลาดกลาง และเชื่อมโยง ตลาดระดับต่าง ๆ บูรณาการและผลักดันการใช้กลไกภาครัฐ รวมถึงเจรจาและปรับปรุง กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์สินค้าเกษตร และสุดท้าย การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อน โลจิสติกส์ภาคการเกษตร จะจัดทำระบบฐานข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ สอดรับกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ของประเทศ พัฒนาระบบการให้บริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้อำนวย ความสะดวก ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์เกษตร
หลังจากนี้ สศก. จะเตรียมเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร พร้อมทั้ง สาระสำคัญของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคการเกษตร (พ.ศ. 2566 - 2570) ต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธาน ในเดือนมีนาคม 2565 หลังจากนั้น จะจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ฉบับสมบูรณ์ พร้อมเผยแพร่และสร้างการรับรู้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร