โดยมีขอบเขตความร่วมมือมุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนในทุกมิติ และการส่งบุคลากรเข้าร่วมในการศึกษาวิจัย ประสานงานและอาศัยทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย ร่วมพัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเสริมขีดความสามารถในการบริหารจัดการและบูรณาการด้านการวิจัยร่วมกัน
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศด้วย BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ Bio-Circular-Green Economy ที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นอกจากนี้ วว. ยังตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากควบคู่ไปด้วย โดยมุ่งทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน สู่การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจควบคู่กับการลดปัญหาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน การลงนามความเข้าใจครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะบูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากรร่วมกัน โดยที่ วว. มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการบูรณาการงานทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Valued Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มจากเทคโนโลยีการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
"...วว. มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน การวิเคราะห์ทดสอบ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งนักวิจัยและบุคลากรของ วว. ล้วนมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ที่พร้อมจะนำศักยภาพที่มีไปผลักดันให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและส่งผลให้เกิดการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป..." ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สวพส. มีภารกิจสนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย งานวิจัย งานส่งเสริมและขยายผล งานพัฒนาเครือข่ายและความเป็นหุ้นส่วนในความร่วมมือด้านต่างๆ โดยการสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนงานวิจัย งานพัฒนา อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ทั้งภายในสถาบัน โครงการหลวง และหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ งานพัฒนาอุทยานหลวงราชพฤกษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้และเป็นจุดเชื่อมโยงการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาผลงานโครงการหลวงและพื้นที่สูง รวมทั้งด้านงานบริหารและพัฒนาองค์กร เพื่อเสริมสร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง
"...การดำเนินงานของ สวพส. มีความสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่ ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่หรือประเทศต้องการองค์ความรู้และนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัจจัยที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง สวพส. ต้องการประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้บุคลากรและเจ้าหน้าที่ทำงาน ได้มีเครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านเข้าไปพัฒนาพื้นที่สูง ขณะนี้ สวพส. ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงได้ผลักดันแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนในระยะปี พ.ศ. 2566-2570 โดยแผนนี้จะครอบคลุมทั้งงานด้านการวิจัยและพัฒนาและภารกิจของทุกหน่วย มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี องค์ความรู้และความร่วมมือของทุกภาคส่วน การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แผนฯการพัฒนาพื้นที่สูงเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ วว. และ สวพส. มีภารกิจที่ใกล้เคียงกันในการวิจัยพัฒนาค้นคว้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งนำผลงานไปสร้างประโยชน์อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว วว. มีความโดดเด่นความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนา สวพส. จะเข้ามาเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้นในด้านการมีพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีการวิเคราะห์ปัญหา การวางเป้าหมายการพัฒนา จะทำให้นำความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ตรงจุดและสามารถแก้ไขปัญหาตรงกับความต้องการ จะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สูงได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์กับประชาชน เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความยากจน การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงให้กับประชาชน โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่ห่างไกล..." ผู้อำนวยการ สวพส. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษาจาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : [email protected] Line@TISTR IG : tistr_ig
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย