นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า "ทองคำ" มีโอกาสจะเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ดีในปีนี้ เนื่องจากโลกมีความเสี่ยงเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างประเทศตลอดทั้งปี โดยประเมินความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงในระยะยาว แม้ว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายได้ แต่ทั่วโลกจะหันมาจับตาการเคลื่อนไหวของรัสเซียหลังจากนี้
"ประเด็นของรัสเซียกับยูเครนน่าจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ปัญหาความขัดแย้งของโลก ความไม่ลงรอยของกลุ่มผู้นำประเทศเดินหน้าเข้าสู่ภาวะตึงเครียดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปอีกนาน โดยผลการโหวตในสหประชาชาติได้สะท้อนแล้วว่าโลกถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายสหรัฐอเมริกา ที่มี NATO เป็นแกนนำกับฝั่งทางรัสเซีย ขณะที่ จีน ยังมีประเด็นอ่อนไหวของไต้หวันที่รอจะเกิดขึ้นอีก ทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่ทุกฝ่ายมองแล้วว่าเป็นตัวเลือกปลอดภัยอันดับที่หนึ่ง หากโลกเข้าสู่ภาวะไม่แน่นอนและน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ด้วย"
ประกอบกับ "ทองคำ" ยังมีประเด็นเรื่องของการเป็นสินทรัพย์ที่สามารถบริหารความเสี่ยงกับอัตราเงินเฟ้อได้ ถ้าหากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) นำปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศมาใช้ในการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยช้าลงกว่าที่คาด ทองคำ ยังมีโอกาสได้รับปัจจัยหนุนจากเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับสูง จากราคาน้ำมันที่ทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องด้วย
ทางด้านปัจจัยทางเทคนิค ราคาทองคำ ได้ทะลุกรอบราคาแนวโน้ม Sideway ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วออกมาได้ หากราคาไม่ลงมาต่ำกว่าระดับ 1,840 ดอลลาร์สหรัฐฯ ยังถือว่าเป็นเพียงแค่การย่อตัวเพื่อที่จะปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 2,077 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีโอกาสที่จะสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ จึงมองว่าควรมีทองคำติดอยู่ในพอร์ตในปีนี้ โดยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี (YTD) ปรับตัวขึ้น 7.8% ขณะที่ "น้ำมัน" เป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนมากที่สุดตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ปรับตัวขึ้นกว่า 50% แล้ว
นายณพวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ราคาบิทคอยน์มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นในระดับสูง จึงไม่ได้อยู่ในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง แต่ถูกจัดให้เป็น Risky Asset มากกว่า สังเกตว่าตลาดหุ้นทั่วโลกถูกเทขาย บิทคอยน์จะได้รับแรงกดดันไปด้วย โดยแนวรับสำคัญที่ต้องจับตาคือจุดต่ำสุดของรอบนี้ที่ 33,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าไม่หลุดจากระดับนี้ ราคาบิทคอยน์จะยังคงเคลื่อนตัวในกรอบแบบ Sideway
"ในระยะสั้น หากความตึงเครียดระหว่างระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงอยู่ ราคาบิทคอยน์คงไม่กลับมาเป็นขาขึ้น ยกเว้นแต่ว่ารัสเซียจะหันมาใช้งานบิทคอยน์อย่างจริงจัง แต่หากบิทคอยน์ถูกนำมาใช้เป็นระบบการเงินทางเลือกในภาวะสงครามดังกล่าว ก็น่าจะเป็นการเสริมปัจจัยพื้นฐานบิทคอยน์ที่ดีขึ้นในระยะยาว"
ด้านตลาดหุ้นทั่วโลก หากดูจากกราฟเทคนิคจะเห็นว่าดัชนีส่วนใหญ่ลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ตลาดหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือดัชนีตลาดหุ้นเยอรมนี และดัชนี EURO Stoxx50 ที่ติดลบลง 17% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงดัชนี NASDAQ ที่ติดลบ 15%
"ตลาดหุ้นยังคงน่าลงทุน เพียงแต่ต้องรอให้ภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน มีทางออกที่ชัดเจนเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสงบศึก หรือ มีฝ่ายแพ้-ชนะ ที่ชัดเจน การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้น เป็นเพียงปัจจัยเชิงจิตวิทยา หากเลือกลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูง ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาวได้ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่ได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังไวรัสโควิด เช่น กลุ่มค้าปลีกและท่องเที่ยว"
สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) วันที่ 16 มีนาคมนี้ ที่เดิมคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% ในครั้งเดียว อาจจะเป็นไปได้ว่าจะขึ้นเพียงแค่ 0.25% รวมถึงความคิดเห็นจากประธาน FED ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่เหลือของปีนี้ ซึ่งจะนำไปสู่ทิศทางราคาของแต่ละสินทรัพย์ต่อไป
ที่มา: เมคอะเว็ลท์ คอนซัลติ้ง