คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 กำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็นวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และทูลเกล้าขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญาแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการช่างอันเป็นที่ประจักษ์ ตั้งแต่ทรงประดิษฐ์ของเล่น เมื่อครั้งทรงพระเยาว์วัย จนถึงเรือใบที่ทรงใช้แข่งขันในกีฬาแหลมทอง กังหันน้ำชัยพัฒนา ตลอดจนทรงตั้งโรงเรียนพระดาบส เพื่อสอนวิชาชีพให้แก่เยาวชน และผู้ด้อยโอกาสทั่วไป ทรงพระราชทานพระราชดำรัส เกี่ยวกับการช่างของไทยเมื่อครั้งเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างของสโมสรโรตารี่ กรุงเทพใต้ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 ความตอนหนึ่งว่า "ช่างทุกประเภทเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่าง จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ในการส่งเสริมนั้นมีปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุง ให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริง ๆ "
กระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกล ที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ที่มีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม กระทรวงแรงงานจึงได้น้อมนำใส่เกล้าไปปฏิบัติในการพัฒนากำลังแรงงานของไทย ให้มีฝีมือ ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และมาตรฐานสากล พร้อมทั้งมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ พัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ ตลอดจนสร้างความเชื่อมันของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย รองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและประชาคมโลกในอนาคต
ที่มา: สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานอำนาจเจริญ