ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็น 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ' คงอันดับเครดิต ที่ 'A-'

พุธ ๐๙ มีนาคม ๒๐๒๒ ๑๔:๐๑
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-Term Local-Currency Issuer Default Ratings) ของธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SCBT เป็น 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีสเถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ' และคงอันดับเครดิตที่ 'A-' พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้น (Short-Term Local-Currency Issuer Default Ratings) ที่ 'F1' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1+(tha)'

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวมีปัจจัยพิจารณามาจากการที่ฟิทช์ทำการทบทวนปัจจัยการให้การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นโดยตรงของ SCBT ได้เปลี่ยนจาก Standard Chartered Bank ในสหราชอาณาจักร (SCB, A+/Negative/a) เป็น Standard Chartered Bank (Singapore) (SCBS; A+/Stable/a) หลังจากการจัดตั้งศูนย์กลางของกลุ่มสำหรับภูมิภาคอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ในสิงคโปร์แล้วเสร็จ ฟิทช์มองว่าการเชื่อมโยงการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของ SCBT กับกลุ่ม SCB ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่การสนับสนุนพิเศษ (extraordinary support) ในกรณีที่จำเป็นน่าจะส่งผ่านมาจาก SCBS ดังนั้นการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ SCBT นั้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตของ SCBS

พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป หลังจากที่มีการปรับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ฟิทช์ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (Shareholder Support Rating: SSR) ที่ 'a-'

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลของ SCBT พิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น การประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT สะท้อนถึงการมีโอกาสสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจาก SCBS ซึ่งเป็นธนาคารแม่โดยตรงรายใหม่ ในกรณีที่จำเป็น โดยพิจารณาจากการถือหุ้นเกือบทั้งหมดในธนาคารลูกในประเทศไทย (99.9%) บทบาทของ SCBT ในการสนับสนุนธุรกิจระดับภูมิภาคของกลุ่ม การเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อชื่อเสียงที่สูงซึ่งอาจเกิดขึ้นหากธนาคารลูกในประเทศไทยผิดนัดชำระหนี้ อันดับเครดิตสากลของ SCBT อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของธนาคารแม่อยู่ 1 อันดับเนื่องจากธนาคารมีบทบาทสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่แต่ตั้งอยู่ในตลาดที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักสำหรับกลุ่ม (non-core market) อันดับเครดิตสากลของ SCBT ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นธนาคารลูกที่มีสาระสำคัญในแผนการฟื้นฟูกิจการของกลุ่มและยังมีความไม่แน่นอนว่า SCBT จะได้รับประโยชน์จาก qualifying junior-debt buffer ของกลุ่ม

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT พิจารณาจากการให้การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ ฟิทช์เชื่อว่าโครงสร้างอันดับเครดิตของ SCBT ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่มีความสอดคล้องกับอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศ เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของ SCBT สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+'

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับตัวลดลงในความสามารถของ SCBS ที่จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT (ซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร) จะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของธนาคารและอันดับเครดิตสากลของ SCBT ได้รับการปรับลดอันดับ

การปรับตัวลดลงของโอกาสที่ SCBS จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลของธนาคารลูกได้รับการปรับลดอันดับ ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารแม่ลงต่ำกว่า 75% พร้อมทั้งการลดลงของอำนาจควบคุมการบริหารงานและความเชื่อมโยงทางธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่ากรณีดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นในระยะสั้น

การปรับลดเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (ที่ 'A-') จะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นของ SCBT ถูกปรับลดอันดับ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อาจได้รับการปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับจนอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ 'BBB+' แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์จะพิจารณาความแข็งแกร่งโครงสร้างเครดิตของ SCBT เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ด้วยเช่นกัน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความสามารถหรือโอกาสของธนาคารแม่ในการให้การสนับสนุนให้แก่ SCBT อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจะไม่ได้รับการเพิ่มอันดับ หากไม่ได้มีการปรับเพิ่มเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยที่ 'A-'

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCBT อยู่ในระดับที่สูงที่สุดแล้วจึงไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับได้

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCBT มีความเชื่อมโยงกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBS

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ EBG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'A-' ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น 'แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' จาก 'แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1'
  • อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'bbb'
  • ยกเลิกอันดับเครดิตสนับสนุน
  • ให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ที่หุ้นที่ 'a-'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F1+(tha)'

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ