หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวจะมีอายุ 10 ปี นับจากวันออกหุ้นกู้ และให้สิทธิธนาคารสามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวก่อนวันครบกำหนดได้หลังจาก 5 ปีนับจากวันออกหุ้นกู้ วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคือเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคาร เพื่อบริหารสภาพคล่องและเพื่อใช้ในการดำเนินงานทั่วไป
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์พื้นฐานตามเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ที่ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ทั้งนี้ไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติมสำหรับความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น การยกเลิกหรือการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย
เงื่อนไขและข้อกำหนดสิทธิสอดคล้องกับเกณฑ์สำหรับหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวที่ออกเสนอขายในประเทศ โดยมีการกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารจะมีสถานะเป็นธนาคารที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) เมื่อได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินจากธนาคารกลางหรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่มีอำนาจ
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ KTB มีปัจจัยสนับสนุนมาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (GSR) ที่ 'bbb+' และสะท้อนถึงโครงสร้างเครดิตที่แข็งแรงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ ฟิทช์ใช้อันดับเครดิตภายในประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอันดับเครดิตอ้างอิง (anchor rating) เพื่อสะท้อนถึงความคาดหวังว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนก่อน (pre-emptive support) ที่ธนาคารจะถึงจุดที่ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ซึ่งสอดคล้องกับการพิจารณาของฟิทช์สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ที่ออกโดย KTB ในอดีต
ฟิทช์มองว่า KTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดของเงินฝากที่ 16% และถูกกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในหกธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศไทย (D-SIB) นอกจากนี้ ฟิทช์ยังเชื่อว่า KTB เป็นธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์กับรัฐบาล ในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์รายเดียวที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ โดยถือผ่านหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 55% ซึ่งฟิทช์มองว่าการถือหุ้นเป็นในลักษณะเชิงกลยุทธ์และระยะยาว
รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตและปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ KTB สามารถดูได้จากประกาศอันดับเครดิตล่าสุด หัวข้อ 'ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทยเป็น 'BBB+' และ 'AAA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ที่ www.fitchratings.com/site/pr/10184961
ปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ KTB จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ถูกปรับลดอันดับด้วยเช่นกัน
การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล จะส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ KTB ถูกปรับลดอันดับด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ฟิทช์จะพิจารณาเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของสถาบันการเงินไทยรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KTB อาจถูกปรับลดอันดับได้ ในกรณีที่มีการปรับลดลงของแนวโน้มในการให้การสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ พร้อมทั้งการลดลงของระดับความสัมพันธ์กับรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ สกุลเงินบาทของ KTB ไม่น่าจะได้รับการเพิ่มอันดับขึ้นได้อีก เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิง ซึ่งคืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว อยู่ในระดับสูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว
วันที่มีการประชุมพิจารณาอันดับเครดิต
30 พฤศจิกายน 2564
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)
ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์