ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพไปสู่ภาคธุรกิจ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล รักษาการผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษาเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามฯ ครั้งนี้
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) โดยร่วมกันในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพไปสู่ภาคธุรกิจ ร่วมกันผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์พร้อมสู่ตลาด หรือรองรับงานบริการเพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ สามารถแข่งขันได้ในเชิงธุรกิจและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นในการขยายธุรกิจ เป็นความร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพที่กำลังจะเริ่มต้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกับความร่วมมือในงานอีกหลายๆ ด้านที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนสืบต่อไป"
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "รู้สึกมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ให้เกียรติร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) โดยที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือและเริ่มดำเนินงานร่วมกันมาระยะหนึ่งแล้ว จึงเป็นโอกาสดีที่จะเน้นย้ำความร่วมมืออย่างเป็นทางการ สำหรับการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต"
ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ตามที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีการดำเนินการโดยยึดหลักปรัชญา "เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต" และมีปณิธานในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการและวิชาชีพ เพื่อบริการมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน และสร้างสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต ด้วยวิทยาการขั้นสูง นวัตกรรมและความเป็นเลิศ รวมถึงเป็นสถาบันการวิจัยและเป็นหน่วยให้บริการที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนในประเทศอย่างเท่าเทียม ในขณะที่ ทีเซลส์ (TCELS) มีพันธกิจ ในการเร่งรัดขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวย กระตุ้นและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร ที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยครอบคลุมการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม"
"ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้งสององค์กรมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์และให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียม ซึ่งทีเซลส์ (TCELS) พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อย่างเต็มความสามารถ และตามที่ได้กล่าวเบื้องต้น เราไม่ได้เริ่มต้นเกิดความร่วมมือขึ้นในวันนี้ แต่ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาแล้วระยะหนึ่งแล้ว เช่น
- โครงการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (Ending Pandemic through Innovation: EPI)
เรื่องการพัฒนากลไก เพื่อการนำนวัตกรรมการแพทย์มาใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ - การพัฒนาบุคคลากรในประเทศให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านพันธุศาสตร์ หรือ Genetic Counselling ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ทีเซลส์ (TCELS) และ Guy's and St Thomas' NHS Foundation Trust จากสหราชอาณาจักร ที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมแล้ว และจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาบุคลากรด้านนี้ของหน่วยงานต่อไป
- การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน liquid biopsy testing จากประเทศแคนาดา เพื่อช่วยในการรักษามะเร็งให้แม่นยำมากขึ้น
- โครงการการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจคัดกรอง COVID-19 ด้วยลมหายใจ ชนิดพกพา เพื่อเป็นการให้บริการทั้งเชิงรุกและเชิงรับในการเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และสร้างการรับรู้ประชาชนในการป้องกันตนเอง เป็นต้น
การร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ ทีเซลส์ (TCELS) ในวันนี้ จะเกิดกิจกรรมและมีความร่วมมือกันมากขึ้น ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เข้าถึงประชาชนและผู้ป่วยได้ในวงกว้างอย่างเท่าเทียม ตามปณิธานและเป้าหมายของทั้งสององค์กร" ดร.ศิรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: ศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)