เอสซีจี จึงได้เร่งเดินหน้าเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เข้ามาได้อย่างทันท่วงที ดังนี้
กลยุทธ์ระยะสั้น เน้น 1.ปิดทุกความเสี่ยง บริหารต้นทุนพลังงาน และดูแลซัพพลายเชน โดยจัดเตรียมวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอและอยู่ในต้นทุนที่เหมาะสม ทำสัญญาซื้อขายพลังงานล่วงหน้า พร้อมบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และ 2.ยืดหยุ่นปรับตัวตามสถานการณ์ โดยติดตามสถานการณ์ต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบที่สูงขึ้นตามกลไกตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันท่วงที และพยายามให้เกิดผลกระทบกับลูกค้าให้น้อยที่สุด
ส่วนกลยุทธ์ระยะยาว 1.เร่งแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือ) ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พัฒนาสินค้าคาร์บอนต่ำ เพื่อมุ่ง Net Zero 2050 2. ปรับแผนโครงการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ยังคงเดินหน้าโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ในเวียดนามที่มีความคืบหน้าตามแผนร้อยละ 91 (ณ สิ้นปี 2564) โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566 และพิจารณาทบทวนโครงการลงทุนใหม่ที่กระทบกับการใช้เงินในระยะยาว
"เอสซีจีเชื่อว่าสามารถรับมือกับความท้าทายที่เผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ เราได้เรียนรู้จากวิกฤตอย่างโควิด 19 เมื่อ 2 ปีก่อน ดังนั้นในปีนี้ มั่นใจว่าสามารถปรับวิธีการทำงาน ปรับองค์กรให้ยืดหยุ่น คล่องตัว ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะราคาพลังงานและวัตถุดิบที่พุ่งสูง เป็นตัวเร่งให้เอสซีจีทำเรื่องการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น แม้จะไม่ง่าย แต่เรามีแผนที่จะมุ่งสู่ Net-Zero ด้วยกลยุทธ์ ESG ทำให้มั่นใจว่า เราสามารถทำให้เห็นผลได้ ในขณะเดียวกันก็ยังต้องดูแลคู่ค้า คู่ธุรกิจ ชุมชนสังคม ทุกภาคส่วน (Stakeholders) ให้มีความเข้มแข็งเติบโตยั่งยืนควบคู่ไปกับยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ระบุ
ที่มา: เอสซีจี