ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ดำเนินงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2564 ผ่าน "โครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับด้วยนวัตกรรมเกษตรตามแนวทางมาลัยวิทยสถาน อว." ซึ่งได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จด้วยดีเป็นรูปธรรม สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินงานร่วมกันในระยะเวลา 2 ปี ภายใต้บันทึกความเข้าใจครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy เพื่อนำนโยบายของรัฐบาลมาปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ดำเนินการให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรของจังหวัดลำปางอย่างคุ้มค่า ได้แก่ การลดของเสีย การนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เพื่อสร้างและรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติ ร่วมมือพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติด้านการวิเคราะห์ทดสอบและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ กระตุ้นให้เกิดการนำรายได้คืนสู่การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นฐานรากของทรัพยากร อันจะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง (Inclusive growth)
"...วว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในการพัฒนาพื้นที่ด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะได้ผลลัพธ์ที่สร้างผลกระทบอันเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป..." ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าว
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ยึดปรัชญาการเป็น "มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้ลงพื้นที่ในจังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อนำองค์ความรู้ต่างๆที่มีอยู่ ไปขับเคลื่อนให้ชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะในเรื่องการเกษตร อาหารและเวชสำอาง รวมทั้งด้านสมุนไพรต่างๆ ตามศักยภาพที่เรามีอยู่ สำหรับความร่วมมือที่ได้รับการอนุเคราะห์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย วว. ในครั้งนี้ นับจากนี้ไปมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จะนำองค์ความรู้ต่างๆของทั้ง วว.หรือ มหาวิทยาลัยฯ ร่วมกันลงไปขับเลื่อนในกับเศรษฐกิจของชุมชนฐานราก รวมทั้งการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ในเรื่องของสมุนไพรเป็นหลัก เนื่องจากหลายท้องที่ในจังหวัดลำปางที่มีสมุนไพรเหมือนกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดองค์ความรู้ และงานวิจัยต่างๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รับคำแนะนำปรึกษา และรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล [email protected] Line@TISTR
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย