ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ในแต่ละปี มีนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แล้วไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน มีความจำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดแรงานทันทีที่จบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว จึงเป็นการเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ "แรงงานไร้ฝีมือ" ได้ค่าจ้างแค่แรงขั้นต่ำประมาณ 300 บาท ต่อวัน หากนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) แล้วไม่ได้เรียนต่อกลุ่มดังกล่าว ได้รับโอกาสในการเข้าฝึกทักษะด้านอาชีพทันทีภายหลังจากจบการศึกษา (ม. 3) โดยใช้ระยะเวลาฝึกเพียง 4 - 6 เดือน จะช่วยให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ตลาดแรงานในฐานะ "แรงงานมีฝีมือ" ในฐานะผู้ช่วยช่างหรือช่าง อันจะทำให้มีรายได้ค่าจ้างสูงขึ้นกว่าค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 400 - 450 บาท ต่อวัน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ช่วยลดปัญหาครอบครัวและสังคม
ทั้งนี้ โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ถือเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560- หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 54 "รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนรับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้ง ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต" พร้อมทั้งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดให้มีการพัฒนาประเทศโดยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญประกอบด้วย การกำหนดการศึกษาดูงานตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ในปีงบประมาณ 2565 การสรุปรายชื่อสถานศึกษาที่มีนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เข้าร่วมโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ในปีงบประมาณ 2565 และ การเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรมนำนักเรียนเข้าศึกษาดูงานตามโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ในปีงบประมาณ 2565
ที่มา: สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน