ขณะเดียวกันยังได้สร้างความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่เข้ารับบริการในระบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือคลินิกทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของ รพ. ในสังกัด กทม.ตามแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ของ สธ. แบบ "เจอ แจก จบ" โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการรักษาและการจ่ายยาตามระดับอาการ วิธีปฏิบัติตนในการดูแลตนเอง รวมทั้งระบบการติดตามอาการและส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาใน รพ. หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ป่วยได้ยืนยันผลติดเชื้อด้วย Antigen Test Kit (ATK) แล้ว และได้รับการประเมินแล้วพบว่า ไม่มีอาการ หรือความเสี่ยงจากปัจจัยต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ โดยให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอน รพ. เมื่อขอเข้ารับการรักษาในระบบแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษาตามอาการของผู้ติดเชื้อ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการและเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลรักษาได้ด้วยตนเอง
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ได้เริ่มดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอกร่วมกับการแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.65 โดยประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง โดยผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ตรวจพบเชื้อด้วย ATK ด้วยตนเอง หรือตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สามารถติดต่อ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาได้ผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์ 1330 หมายเลขโทรศัพท์ของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินสำนักงานเขต (Emergency Operation Center : EOC) เขต LINE @สปสช. และ QR CODE ของ สปสช. หรือรับการตรวจคัดกรองที่คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง หากผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการและไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมที่สำคัญ จะได้รับการดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) และได้รับยาบรรเทาอาการ หรือยาฟ้าทะลายโจร ตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" พร้อมกับการติดตามอาการผู้ติดเชื้อโควิด 19 เมื่อครบ 48 ชั่วโมง หลังจากเข้าสู่ระบบ หากมีอาการแย่ลง ผู้ป่วยสามารถติดต่อกลับมายังศูนย์บริการสาธารณสุขได้ทันที และเข้าสู่ระบบการรักษาแบบ Home Isolation Hotel Isolation Hospitel Community Isolation หรือ รพ.ตามดุลยพินิจของแพทย์
นอกจากนี้ สำนักอนามัยยังได้เร่งจัดจ้างบุคลากรสนับสนุนการดำเนินงานดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ของศูนย์ EOC โดยสำนักงานเขตรับลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด 19 เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล การบริหารจัดการผู้ป่วยในระบบ portal ของ สปสช. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากหน่วยบริการต่าง ๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบตามความเหมาะสม ทั้งการดูแลผู้ป่วยนอกร่วมกับแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self isolation) และการดูแลแบบ Home Isolation รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ได้แก่ สนับสนุนการจัดส่งอุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องผลิตออกซิเจนในกรณีเร่งด่วน รวมทั้งบูรณาการร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมดำเนินการให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 เข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้าง
ที่มา: สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร