ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาพิเศษ มีการขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการสร้างโอกาสให้กับเด็กด้อยโอกาสและพิการ โดยได้มีการตั้งคณะทำงานในการสำรวจกลุ่มเด็กพิเศษ ทั้งเด็กพิการและด้อยโอกาสที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ค้นหาและคัดกรองนำมาเข้าสู่ระบบการศึกษาพิเศษอีกครั้งตามความเหมาะสมทั้งด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ซึ่งจากการทำงานเชิงรุกของคณะทำงานสำรวจกลุ่มเด็กพิเศษ ณ เดือนมกราคม 2565 สามารถนำเด็กพิเศษกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้แล้วกว่า 5,000 คน และคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้จะไม่มีตัวเลขเด็กพิเศษที่ตกหล่นไม่ได้รับการศึกษาอยู่อีกเลย
"ตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 3 ปี ปีนี้จะก้าวสู่ปีที่ 4 ในฐานะที่กำกับดูแลการศึกษาพิเศษได้มีการขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 โครงการสำคัญเร่งด่วนที่ต้องทำ กระทรวงศึกษาธิการต้องการสร้างโอกาสให้กับเด็กด้อยโอกาสและพิการ พัฒนาทักษะชีวิตผ่านการเรียนรู้ และการศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง " ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า คุณหญิงกัลยา ในฐานะที่กำกับดูแลการศึกษาพิเศษ มีความเป็นห่วงเด็กที่ออกจากระบบการศึกษาเพราะความจำเป็นโดยเฉพาะจากสถานการณ์วิด โดยที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด รวมถึงตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจเด็กพิเศษที่ออกจากระบบการศึกษา เพื่อดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง เพื่อให้เด็กพิเศษทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับการทำงานเพื่อนำเด็กพิเศษ ทั้งเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งนั้น คณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำงานในเชิงรุก แบ่งเป็นระยะสั้นได้มีการลงพื้นที่สำรวจและคัดแยกข้อมูลและส่งกลับเข้ามาส่วนกลางภายใต้ศูนย์ติดตามเด็กพิเศษกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาซึ่งจะมีการรายงานตัวเลขทุกสัปดาห์ ส่วนในระยะยาวจะมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน อาทิ ชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นต้น ในการช่วยกันติดตามเพื่อช่วยเหลือเด็กพิเศษให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมต่อไป ที่สำคัญคือการส่งเสริมให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียนเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทางจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนและการหลุดจากระบบ
"จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่ามีเด็กพิเศษ เด็กพิการที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจำนวน 7,173 คน ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของ สพฐ. ซึ่งคณะทำงานสำรวจได้คัดแยกข้อมูลและส่งไปให้ศูนย์การศึกษาพิเศษที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองนำมาเข้าสู่ระบบการศึกษาพิเศษตามความเหมาะสมทั้งด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ซึ่งจากการทำงานเชิงรุกสามารถนำเด็กพิเศษกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้แล้วกว่า 5,000 คน และปัจจุบันเหลือตัวเลขเด็กพิเศษที่ตกหล่นอีกประมาณ 200 กว่าคน ซึ่งคาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะสามารถนำเด็กพิเศษกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ทั้งหมดดังเจตนารมณ์ของคุณหญิงกัลยาที่ต้องการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม"นายภูมิสรรค์ กล่าว
นายภูมิสรรค์ กล่าวต่อว่า คุณหญิงกัลยาต้องการให้เด็กทุกคนได้เรียนเหมือนปกติมากที่สุด หรือต้องได้รับความรู้ให้เทียบเท่าเหมือนที่เรียนปกติมากที่สุด ทั้งด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายการจัดการศึกษาเร่งด่วน (Quick Win) ที่กำหนดให้การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยต้องพยายามค้นหาเด็กที่ด้อยโอกาสให้ได้มากที่สุด ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ที่มา: กระทรวงศึกษาธิการ