ดร. กาญจนา ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความต้องการกำลังคนด้านดิจิทัล ซึ่ง สอวช. ได้สำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563-2567) พบว่า จากอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมด อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีความต้องการบุคลากรทักษะสูงในจำนวนมากที่สุด รวม 30,742 ตำแหน่ง อีกทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ยังเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย ตัวอย่างตำแหน่งงานที่มีความต้องการ เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist), นักพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform Developer), ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Specialist) และนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) เป็นต้น ส่วนตัวอย่างสมรรถนะที่ต้องการ เช่น การประเมินความปลอดภัย (Security Assessments), การแสดงข้อมูลและวิศวกรรมข้อมูล (Data Visualization and Data Engineering) และการวิเคราะห์และการสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ (Analytics and Computational Modelling) เป็นต้น
ด้านข้อมูลสถานการณ์กำลังคนด้านดิจิทัลในปัจจุบัน จากระบบเผยแพร่สารสนเทศอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในส่วนข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 ในมหาวิทยาลัย 101 แห่ง พบว่า สามารถผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัล ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาเอก ได้จำนวน 5,916 คน และข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สรุปผลที่สำคัญของผู้ทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พ.ศ. 2563 พบว่า มีผู้ทำงานในกลุ่มนี้อยู่ 4.73 แสนคน โดยจำแนกเป็น 5 ลักษณะงาน ได้แก่ 1) นักวิเคราะห์และพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรมประยุกต์ 2) ผู้ประกอบวิชาชีพด้านฐานข้อมูลและเครือข่าย 3) ช่างเทคนิคด้านการติดต่อสื่อสาร 4) ช่างเทคนิคปฏิบัติการและให้ความช่วยเหลือด้าน ICT, และ 5) การผลิตสินค้าและบริการด้าน ICT
ทั้งนี้ กระทรวง อว. ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ หลายมาตรการสำคัญ ตัวอย่างเช่น มาตรการ Thailand Plus Package การให้สิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนการฝึกอบรมและการจ้างงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) โดยดำเนินการร่วมกับกรมสรรพากรและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), โครงการนำร่อง GenNX Model ที่เป็นการพัฒนาทักษะบุคลากรแบบเร่งด่วนในรูปแบบ Boot Camp เพื่อตอบโจทย์การจ้างงาน ซึ่งเป็นกลไกที่กระทรวง อว. ทำร่วมกับองค์กร Generation และได้นำร่องในสาขาดิจิทัลและการบริการด้านสุขภาพ
อีกมาตรการสำคัญซึ่งเป็นการทดลองจัดการศึกษารูปแบบใหม่ คือ แนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox เป็นการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษา ผ่านหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา แต่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคผู้ใช้บุคลากร นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลกำลังคนศักยภาพสูงในด้านต่างๆ จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อนำไปใช้กำหนดนโยบายการพัฒนากำลังคน และทดลองนำร่องกลไกการใช้ประโยชน์ผู้มีศักยภาพสูงต่อไป โดยสามารถหาข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงดังกล่าวได้ที่ https://talent.nxpo.or.th/
ในส่วนของกลไกใหม่ที่เกิดขึ้น ยังได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง และพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อตอบโจทย์ในด้านต่างๆ สามารถช่วยให้เกิดการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ขั้นแนวหน้า หรือการพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางได้อีกด้วย
ผู้ที่สนใจข้อมูลการสำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสาหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563-2567) สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/report/5532/
ที่มา: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)