รมว.สุชาติ ร่วมทีมเศรษฐกิจ แถลงมาตรการช่วยแรงงานและประชาชนลดผลกระทบวิกฤตยูเครน

พฤหัส ๒๔ มีนาคม ๒๐๒๒ ๑๕:๕๘
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน - รัสเซีย โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและกล่าวรายงาน
รมว.สุชาติ ร่วมทีมเศรษฐกิจ แถลงมาตรการช่วยแรงงานและประชาชนลดผลกระทบวิกฤตยูเครน

นายสุชาติ กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว และท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกท่าน จึงให้แต่ละหน่วยงานกำหนดมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยด่วนที่สุด ซึ่งภายใต้การกำกับดูแลของท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน เพื่อลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น โดยการลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพ ไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาททางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 - 360 บาทต่อคนต่อเดือน
  • นอกจากนี้ นายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือ ร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุน การผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท

มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 103,620 ล้านบาท

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าประเด็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งรัดติดตามการดำเนินการเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยหากเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของเรายังอยู่ในระดับที่สูงกว่า และ การขึ้นค่าแรงในแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ตามเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตามหลักการของ ILO ทั้งนี้ ในห้วง เดือน เม.ย. - มิ.ย. 65 อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ จากนั้นในเดือน ก.ค.65 คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ จะจัดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง ก่อนที่จะให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นจัดการประชุมพิจารณาในเดือน ส.ค.-ก.ย.65 โดยในกรณีมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

รมว.แรงงาน ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องช่วงโควิด-19 ทั้งในส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง เช่น โครงการ ม.33 เรารักรักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ 29 จังหวัด การลดเงินสมทบ จำนวน 5 ครั้ง นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้มีมาตรการในการรักษาระดับการจ้างตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs จนทำให้ในปี 2564 ตลาดการจ้างงานพลิกกลับเป็นบวก มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 170,000 ตำแหน่ง อีกทั้งรัฐบาลยังมีมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คือโครงการ Factory Sandbox เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุข จนทำให้ในปี 64 มูลค่าภาคการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการในรอบ 11 ปี หรือประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท และด้วยความห่วงใยจากท่านนายกรัฐมนตรี จึงได้กรุณาอนุมัติจัดสรรยอดวัคซีนในโครงการวัคซีนมาตรา 33 สำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะ รวมถึงกำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ป่วยโควิด-19 จนนำไปสู่การจัดตั้ง Hospitel เพื่อรองรับการรักษาแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงาน

"มาตรการช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ที่กระทรวงแรงงานได้กำหนดขึ้นมานั้น เป็นมาตรการระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งเป็นความห่วงใยจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นห้วงวิกฤตซ้อนวิกฤตก้าวข้ามสถานการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน" นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: กระทรวงแรงงาน

รมว.สุชาติ ร่วมทีมเศรษฐกิจ แถลงมาตรการช่วยแรงงานและประชาชนลดผลกระทบวิกฤตยูเครน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO