กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ปชส.จร.
การเจรจา WTO ซึ่งแม้จะหยุดชะงักมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเจรจาระดับรัฐมนตรีการค้าที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม G-6 ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป บราซิล อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องการเจรจาเปิดตลาดโดยการลดภาษี และการลดการอุดหนุนภายในสำหรับสินค้าเกษตร แต่ยังคงมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มเจรจาต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา
นายปาสคาล ลามี ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลกได้กล่าวเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมาว่าการประชุมในกลุ่ม G-20 ที่เมืองริโอจาเนโร ประเทศบราซิล และการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มเครนส์ ณ ประเทศออสเตรเลียในช่วงที่ผ่านมา ผลสรุปเป็นที่น่ายินดีว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้การเจรจารอบโดฮากลับสู่สภาวะปกติ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือยังไม่มีท่าทีที่เป็นรูปธรรมในส่วนของเนื้อหาสาระในการปรับท่าทีของแต่ละประเทศสมาชิกทั้งๆ ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะนำการเจรจากลับมาสู่ปกติได้
สมาชิกกลุ่มเครนส์ได้เสนอว่าน่าจะให้ประเทศหลักๆ ที่มีความเห็นไม่ตรงกันในแต่ละเรื่อง มาหารือกันในรูปแบบการเขียนเอกสารแสดงความจำนงและความจริงใจในการเจรจารอบโดฮาว่าต้องการอะไรกันแน่ และสามารถยอมเรื่องไหนได้เต็มที่เท่าใด โดยถือเป็นเอกสารลับเพื่อให้การเจรจามีบรรยากาศที่จริงใจมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่มีการตอบรับใดๆ จากนายปาสคาล ลามี
สมาชิกกลุ่ม G-20 ขณะนี้ได้พยายามปรับท่าทีที่มีความแตกต่างกันให้ลดหย่อนลง โดยเฉพาะเรื่องสินค้าพิเศษ (Special Product - SP) และการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Mechanism - SSM) ซึ่งยังมีความเห็นแตกกันออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายอินเดีย อินโดนีเซีย จีน
และฟิลิปปินส์ ต้องการยกเว้นการลดภาษีสินค้าเกษตรบางรายการ ในขณะที่ฝ่ายประเทศกลุ่มละติน อเมริกา ได้แก่ อาร์เจนติน่า บราซิล และชิลี ต่างไม่ต้องการให้มีความยืดหยุ่นใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ไทยเห็นควรให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถใช้ SP และ SSM ได้ เพื่อเหตุผลสามประการคือ ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านความเป็นอยู่ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในชนบท แต่ต้องไม่ใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า
เอกอัครราชทูตประเทศหนึ่งในกลุ่ม G-20 กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ทุกฝ่ายรู้ว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะนำการเจรจากลับสู่ปกติในระยะเวลาอันใกล้ ประเทศสมาชิกจึงอาจไม่ค่อยมีความตั้งใจในการเร่งรีบที่จะตัดสินใจในเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ในขณะนี้
นายครอฟอร์ด ฟอลคอนเนอร์ ประธานการเจรจากลุ่มสินค้าเกษตร กล่าวในวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมาว่า รู้สึกผิดหวังกับประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นอย่างมากกับการประกาศย้ำท่าทีที่ยังแข็งกร้าว และไม่ลดหย่อน นอกจากนี้ยังย้ำอีกว่าการที่ยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องสินค้าเกษตรไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่ปัญหาหลักคือ ต้องใช้ความกดดันมากเพียงใด ในการที่จะทำให้แต่ละประเทศยอมขยับท่าทีให้สามารถเข้าหากันได้
นายครอฟอร์ด ฟอลคอนเนอร์ ยังได้ย้ำอีกว่า อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต คือ หากการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีล่มสลายไป ประเทศต่างๆ จะหันมาทำ FTA และเลือกคู่เจรจาที่ตนเองชอบหรือต้องการเจรจาด้วยเท่านั้น ส่งผลให้ประเทศอื่นที่ไม่มีโอกาสในการเจรจาต้องเดือดร้อน รวมทั้งไม่เกิดการค้าที่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกันกับนายคาลโลร์ โทรจาน เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำองค์การการค้าโลก กล่าวว่า การที่ท่าทีของแต่ละประเทศไม่ลงรอยกันมิได้มาจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาด้านการเมืองที่ทุกฝ่ายต้องกล้าเผชิญภาวะความกดดันจากการต่อต้านภายในประเทศของตน
อย่างไรก็ดี รองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยังคงยืนยันท่าทีเดิมในการตั้งเงื่อนไขว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะยืดหยุ่นในเรื่องการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร หากสหภาพยุโรปยอมเปิดตลาดโดยการลดภาษีสินค้าเกษตรมากขึ้น โดยจากที่ข้อเสนอสหภาพยุโรปที่จะลดภาษีลง 50 เปอร์เซ็นต์นั้น ยังห่างไกลกับที่ทางสหรัฐฯ หวังไว้ ส่วนนายบรูซ กอสเปอร์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำองค์การการค้าโลก กล่าวว่าการลดภาษีควรจะเป็นที่ประมาณ 60 — 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ต่ำกว่าภาษีที่เก็บจริงในปัจจุบัน และจะส่งผลต่อการค้าเสรีที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง